พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ประกาศผลักดันกฎหมายจำนวนมาก เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพสังคม และในสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่ผ่านมาได้ทยอยเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาไปบ้างแล้ว

เมื่อวันที่ 20 พ.ย. นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ โฆษกพรรคก้าวไกล แถลงถึงสถานะและความคืบหน้าของร่างกฎหมายที่ถูกเสนอต่อสภาโดย สส.พรรคก้าวไกล ว่า แม้เป็นที่น่าเสียดายที่ในสมัยประชุมสภาครั้งที่หนึ่ง ระหว่างเดือน ก.ค. – ต.ค. 2566 สภายังไม่ได้พิจารณาหรือให้ความเห็นชอบร่างกฎหมายหรือพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สักฉบับ แต่ สส. พรรคก้าวไกลได้เสนอร่างกฎหมายเข้าสู่กระบวนการของสภาไปแล้วทั้งหมด 31 ฉบับ ครอบคลุมวาระทาง การเมือง-เศรษฐกิจ-สังคม เช่น การปลดล็อกท้องถิ่น การคุ้มครองแรงงาน การปฏิรูปที่ดิน การปฏิรูปกองทัพ การปิดช่องทุนผูกขาด การป้องกันการทุจริต การยกระดับบริการสาธารณะ การยกระดับสวัสดิการ และการปฏิรูประบบภาษี

ในบรรดา 31 ร่าง ประกอบด้วย ร่างกฎหมายที่เป็นร่างที่ไม่เกี่ยวกับการเงินตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 134 จำนวน 17 ฉบับ เช่น พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารสาธารณะ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า จะเดินหน้าสู่การถูกบรรจุ เข้าวาระการประชุมสภา ซึ่งคาดว่าจะเรียงคิวเข้าสู่การพิจารณา อภิปราย และลงมติโดย ส.ส. ในวาระที่ 1 เมื่อสภากลับมาเปิดตั้งแต่กลางเดือนธ.ค.นี้เป็นต้นไป

ในขณะที่ร่างกฎหมายที่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นร่างการเงินตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 134 จำนวน 14 ร่าง จะยังไม่สามารถถูกบรรจุเข้าวาระการประชุมสภาได้ จนกว่าจะได้รับคำรับรองจากนายกฯ ประกอบด้วย 1.ร่างพ.ร.บ.รับราชการทหาร (ยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหาร) 2.ร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกประกาศ คสช. และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) 3.ร่าง พ.ร.บ.ยกเลิก พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 (ยุบ กอ.รมน.)

4.ร่าง พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 5.ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนและ การได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ 6.ร่าง พ.ร.บ.ถนน 7.ร่าง พ.ร.บ. การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตและการให้บริการแก่ประชาชน 8.ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 9.ร่าง พ.ร.บ. ภาษีที่ดินรวมแปลง

10.ร่าง พ.ร.บ.ภาษีความมั่งคั่ง 11.ร่าง พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดิน เพื่อประชาชน 12.ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (สิทธิลาคลอด 180 วัน) 13.ร่าง พ.ร.บ.บำนาญพื้นฐานถ้วนหน้า 14. ร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง

โดยหลักการแล้ว การที่นายกฯ ให้คำรับรองกับร่างกฎหมาย การเงิน ไม่ได้หมายความว่านายกฯ หรือรัฐบาล จะต้องเห็นด้วย กับร่างดังกล่าว แต่เป็นการเปิดโอกาสให้ร่างดังกล่าวถูกถกเถียง แลกเปลี่ยนกันในพื้นที่ของสภา ที่มีตัวแทนจากทุกพรรคการเมืองและทุกชุดความคิด เพื่อเดินหน้าหาข้อสรุปที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ตามกระบวนการรัฐสภา








Advertisement

หากย้อนไปดูสถิติจากสภาชุดที่แล้ว แม้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกฯ รับรองให้ 59 เปอร์เซ็นต์ของร่างกฎหมายการเงินที่ถูกเสนอโดยฝ่ายค้านเข้าสู่การพิจารณาของสภา ซึ่งเป็นสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับนายกฯ ก่อนหน้า แต่ในที่สุด สส. รัฐบาล สมัยก่อน ไม่สนับสนุนร่างกฎหมายที่ถูกเสนอโดยฝ่ายค้านให้ผ่านความเห็นชอบของสภาแม้แต่ฉบับเดียว ไม่นับร่างที่ถูกรวมร่างกับร่างของรัฐบาล

หรือหากนายกฯ มีความกังวลว่าร่างกฎหมายฉบับใดจะ 1.นำไปสู่การเพิ่มภาระงบประมาณที่ผูกมัดรัฐบาลมากจนเกินไป หรือ 2.ขัดกับหลักการสำคัญของนโยบายรัฐบาล นายกฯ ก็สามารถเปิดโอกาสให้ร่างดังกล่าวถูกพิจารณาในสภาเพื่อให้ สส. รัฐบาล ซึ่งมีเสียงเกิน กึ่งหนึ่งของสภาได้ฟังเหตุผลและแลกเปลี่ยนมุมมองก่อนจะตัดสินใจลงมติว่าจะสนับสนุนหรือไม่

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อพิจารณาจากข้อกังวลที่นายกฯ อาจมีใน 2 ส่วน จะเห็นว่าร่างกฎหมายก้าวไกลหลายร่าง ไม่น่าจะสร้างความกังวล ดังกล่าว

(1) ในส่วนของภาระงบประมาณ แม้ 14 ร่างจะถูกตีความว่าเป็นร่างการเงินตามกฎหมาย เพราะมีการโอนถ่ายงบประมาณระหว่างหน่วยงานรัฐ แต่มีหลายร่างที่ความจริงแล้วจะเป็นการลดภาระงบประมาณของรัฐ เช่น การยุบ กอ.รมน. การเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีที่ดิน การจัดเก็บภาษีที่ดินรวมแปลงและภาษีความมั่งคั่ง

รวมถึงอีกหลายร่างที่ไม่เป็นที่ชัดเจนว่าจะเพิ่มภาระงบประมาณ แต่เป็นเพียงการปรับเกณฑ์และกระบวนการจัดสรรงบประมาณ เช่น การเพิ่มอำนาจท้องถิ่นในการหารายได้ หรือการปรับโครงสร้างบริหารราชการแผ่นดิน เช่น การลดความซ้ำซ้อนในการบริหารจัดการโครงข่ายถนนทั่วประเทศ

(2) ในส่วนของความสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล แม้ 14 ร่างต่างมีรายละเอียดในส่วนที่รัฐบาลยังไม่เคยแสดงความเห็นอย่างชัดเจน แต่หลายร่างเป็นข้อเสนอที่สอดคล้องกับทิศทางภาพรวมของนโยบายที่รัฐบาลเคยประกาศ เช่น การมุ่งสู่การยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหาร การยกเลิกคำสั่ง-ประกาศ คสช. การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น หรือการเปลี่ยน ส.ป.ก. เป็นโฉนดอย่างเป็นธรรม

พรรคก้าวไกล จึงขอให้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ พิจารณาให้คำรับรองว่า 14 ร่างกฎหมายการเงิน ที่ถูกเสนอโดย สส. ก้าวไกลให้เข้าสู่การพิจารณาของสภาทันการเปิดสมัยประชุมสภาในวันที่ 12 ธ.ค.2566

“ไม่ใช่เพราะนายกฯ จะต้องเห็นดีเห็นงามกับร่างกฎหมายทุกฉบับที่เสนอโดยพรรคก้าวไกล แต่เพราะนายกฯ พร้อมสร้างระบบการเมืองที่ให้ความสำคัญกับสภา ในการเป็นพื้นที่สำหรับการแลกเปลี่ยน มุมมองที่แตกต่างและการหาข้อสรุปที่ทุกฝ่ายยอมรับและพร้อม เดินหน้าร่วมกัน หากนายกฯ ต้องการรายละเอียดส่วนใดเพิ่มเติม ผมและพรรคยินดีให้ข้อมูลดังกล่าวกับนายกฯ เพื่อประกอบการพิจารณา” นายพริษฐ์กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน