พระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ หรือพ.ร.บ.ประชามติ มีส่วนสำคัญอย่างมากในการนับหนึ่งกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่รัฐบาลกำลังดำเนินการ

โดยมาตรา 13 บัญญัติว่า การออกเสียงที่จะถือว่ามีข้อยุติในเรื่องที่จัดทำประชามติ ต้องมีผู้มาใช้สิทธิ์ออกเสียงเป็นจำนวนเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ออกเสียง และมีจำนวนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ์ออกเสียงในเรื่องที่จัดทำประชามตินั้น

กำลังเป็นประเด็นหัวข้อถกเถียงในกลุ่มนักการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ตลอดจนนักวิชาการรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ที่บางส่วนกังวลว่าเกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้นหรือดับเบิล แมจอริตี้ (Double majority) ที่บัญญัติในมาตรา 13

อาจเป็นอุปสรรคใหญ่ต่อการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญและทุกหัวข้อเรื่องในอนาคต

เกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้น ชั้นที่ 1 ต้องมีจำนวน ผู้ออกมาใช้สิทธิ์เกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ และชั้นที่ 2 ต้องมีเสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของผู้ที่ออกมาใช้สิทธิ์

กติกานี้แตกต่างจากการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2550 และ 2560 ที่กำหนดเกณฑ์สัดส่วนผู้ออกมาใช้สิทธิ์เพียงชั้นเดียว หากใช้กติกาตามมาตรา 13 ของพ.ร.บ.ประชามติปัจจุบัน จะสุ่มเสี่ยงทำให้ประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผ่านได้ยากมาก

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ชี้ว่า เกณฑ์ดังกล่าวอาจกระทบความเป็นธรรมของการจัดทำประชามติ เนื่องจากเปิดช่องให้ฝ่ายที่ “ไม่เห็นด้วย” กับประเด็นคำถามในประชามติ สามารถใช้วิธี “นอนอยู่บ้าน” เพื่อคว่ำประชามติ

แม้ในกรณีฝ่าย “ไม่เห็นด้วย” มีน้อยกว่าฝ่าย “เห็นด้วย” ก็ตาม








Advertisement

สอดคล้องกับนายจาตุรนต์ ฉายแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ที่มองว่า การกำหนดให้ใช้เกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้น หากประชามติไม่ผ่านก็จะกลายเป็นข้อสรุปว่า ประชาชนไม่ต้องการแก้รัฐธรรมนูญ และทำให้ไม่สามารถแก้รัฐธรรมนูญได้อีกตลอดไป

ด้วยเหตุดังกล่าวทำให้เกิดความเคลื่อนไหวเตรียมเสนอแก้ไข มาตรา 13 โดยรัฐบาลและฝ่ายค้านร่วมมือกันยื่นขอแก้ไข เมื่อสภาเปิดสมัยประชุมเดือนธันวาคม ก็นำเข้าพิจารณาวาระแรกได้ทันที และเชื่อว่าจะผ่านทั้ง 3 วาระ โดยไม่กระทบต่อไทม์ไลน์จัดทำประชามติของรัฐบาล

การแก้ไขรัฐธรรมนูญ นอกจากประเด็นว่าต้องทำประชามติกี่ครั้ง จะตั้งคำถามอย่างไร การแก้ไขพ.ร.บ. ประชามติ มาตรา 13 เป็นโจทย์ใหม่ที่สภาต้องร่วมกันคิดอ่านอย่างรอบคอบ

โดยจะต้องช่วยกันเดินหน้าไปภายใต้จุดหมายใหญ่ คือไม่ให้กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องล้มคว่ำตั้งแต่ก้าวแรก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน