เมื่อนึกถึงหมอกเมฆที่ลอยล้อไปกับ ทิวเขาสีเขียวสบายตา หลายคนคงนึกถึงภาคเหนือ แต่ที่คอนสาร อำเภอเหนือสุดของจังหวัดชัยภูมิซึ่งมีเขตแดนติดต่อกับเพชรบูรณ์และขอนแก่น ก็มีหมอกขาวออกมาต้อนรับยามเช้าเช่นกัน

คอนสาร เป็นอำเภอสีเขียวที่โอบล้อมด้วยภูเขาสูงใหญ่ ป่าไม้อุดมสมบูรณ์และมีน้ำผุดมากมายชุ่มชื่นตลอดปี

ในขณะเดียวกันมีเรื่องราวประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน เป็นเมืองที่มีวัฒนธรรม ประเพณีงดงามเป็นเอกลักษณ์ ดังคำขวัญประจำอำเภอที่ว่า “พระประธาน 700 ปีคู่บ้าน หลวงพิชิตสงครามคู่เมือง ลือเลื่องประเพณีบุญเดือนสี่ มากมีน้ำผุดไหลหลาก ป่าหมากอุดม รื่นรมย์เขื่อนจุฬาภรณ์ สะออนป่าทุ่งกะมัง มนต์ขลังทุ่งลุยลาย”

“วันนี้ผมและเพื่อนๆ จะพาทุกคนไปรู้จักคอนสารบ้านผมนะครับ ก่อนอื่นเราจะไปที่อนุสาวรีย์ปู่หมื่นอร่ามกำแหง และต่อกันที่วัดเจดีย์ ไปไหว้หลวงพ่อพระประธาน 700 ปี เพื่อเป็นสิริมงคลกันครับ”

พอร์ช ด.ช.ศรัณย์ ปลื้มใจ และเพื่อนๆ เจ้าถิ่นเมืองคอนสาร อาสาพาทีมงานทุ่งแสงตะวันทำความรู้จักเมืองคอนสาร บ้านของตนด้วยความสดใสร่าเริง








Advertisement

อนุสาวรีย์ปู่หมื่นอร่ามกำแหงที่พอร์ชกล่าวถึง ตั้งอยู่หน้าวัดเจดีย์ ต.คอนสาร ตำแหน่งที่ตั้งอนุสาวรีย์เป็นตำแหน่งที่ปู่หมื่นอร่ามกำแหงพาไพร่พลมาตั้งเมืองเป็นบริเวณแรก ก่อนจะกระจายออกไปกลายเป็นเมืองคอนสารทุกวันนี้

“มนัสการครับหลวงพ่อ ผมอยากรู้ว่าประวัติคอนสารเป็นมาอย่างไรครับ”

หลังจากสักการะปู่หมื่นอร่ามกำแหงแล้ว พอร์ชนำทีมเดิน ข้ามถนนเข้าสู่ประตูวัดเจดีย์ วัดเก่าแก่สำคัญของคนคอนสาร ก่อนจะตรงเข้าอุโบสถและนมัสการถามประวัติคอนสารกับ พระครูนันทเจติยาภิรักษ์ (ไพรัตน์ อภินันโท) เจ้าคณะอำเภอ คอนสาร แทนพี่ๆ ทีมงาน

“สมัยรัชกาลที่ 1 นั้น หลวงพิชิตสงคราม หรือปู่หมื่นอร่ามกำแหง ท่านมาหาดินประสิว แล้วก็มาหาทำเลสร้างเมือง ปรากฏว่ามาเจอบริเวณหลังวัดเป็นป่าดงดิบและพบพระพุทธรูปเก่าแก่ศักดิ์สิทธิ์ชื่อว่า พระพุทธชัยสารมุนี หรือชาวบ้านเรียกว่าหลวงพ่อพระประธาน 700 ปี ที่ด้านหลังนี้ และพบเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง เป็นเจดีย์เก่า ก็เลยชักชวนพี่น้องที่อยู่ฝั่งหลวงพระบางซึ่งเป็นภูมิลำเนาเดิมของท่านส่วนหนึ่ง และจากนครไทยส่วนหนึ่ง เข้ามาตั้งรกรากขยายครอบครัวจนกระทั่งเป็นชุมชนใหญ่ มีวิถีชีวิตวัฒนธรรมที่เหมือนกับพี่น้องทางหลวงพระบาง ทั้งสำเนียงพูด และวิถีชีวิต การนับถือศาสนา ศิลปวัฒนธรรม ก็จะคล้ายคลึงกัน” พระครูนันทเจติยาภิรักษ์กล่าว

ด้วยเหตุผลของเชื้อสายบรรพบุรุษที่อพยพมาจากนครไท และหลวงพระบาง ทำให้คอนสารเป็นอีสานที่แตกต่างและงดงาม ชาวบ้านมักเรียกตัวเองว่าไทคอนสาร มีสำเนียงการพูดแบบ หลวงพระบาง ในทุกๆ ปีจะมีประเพณีบุญเดือนสี่ประเพณีปีใหม่ไทคอนสาร ในช่วงวันแรม 15 ค่ำ เดือน 4 ถึงวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 4 เพื่อระลึกถึงปู่หมื่นอร่ามกำแหง หรือหลวงพิชิตสงคราม เจ้าเมืองคนแรกของคอนสาร และเป็นการทำบุญบูชาหลวงพ่อพระประธาน 700 ปี ที่วัดเจดีย์ด้วย

เรื่องราวเหล่านี้เป็นเพียงเสี้ยวเล็กๆ ของเมืองคอนสาร คอนสารยังมีสิ่งที่น่าสนใจอีกมาก ติดตามสถานที่สำคัญ ทั้งวัด น้ำผุด ถ้ำ และคั่วเนื้อคั่วปลา กับเด็กๆ เจ้าถิ่น ในรายการทุ่งแสงตะวัน ตอน คอนสารบ้านเรา วันเสาร์ที่ 25 พฤศจิกายน 2566 เวลา 05.05 น. ทางช่อง 3 กด 33 และเพจทุ่งแสงตะวัน เวลา 07.30 น.

รัตนาภรณ์ ละมูลเจริญ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน