วันอาทิตย์ที่ 26 พ.ย.2566 น้อมรำลึกครบรอบ 114 ปี ชาตกาล “หลวงปู่สิม พุทธาจาโร” หรือ “พระญาณสิทธาจารย์” สำนักสงฆ์ถ้ำผาปล่อง อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ พระวิปัสสนาจารย์สาย พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยเมตตา

นอกจากนี้ ยังเป็นพระนักเทศน์ที่จับใจผู้ฟังรูปหนึ่ง

เกิดเมื่อวันศุกร์ที่ 26 พ.ย.2452 ที่บ้านบัว ต.สว่าง อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร

ในคืนที่เกิด มารดาฝันเห็นพระภิกษุรูปหนึ่งมีแสงสว่างรอบตัวมาที่เรือนที่พักอาศัย จึงได้ตั้งชื่อว่า สิม ซึ่งหมายถึงโบสถ์หรือสีมา

บรรพชาที่วัดศรีสงคราม อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม เมื่อวันที่ 8 ก.ค.2470 โดยมีพระธรรมเจดีย์ เป็นพระอุปัชฌาย์ อีก 2 ปีต่อมาอุปสมบท ที่วัดศรีจันทราวาส (วัดวิเวกธรรม) จ.ขอนแก่น มีพระครูพิศาลอรัญเขต (จันทร์ เขมิโย) เจ้าคณะธรรมยุต จ.ขอนแก่น เป็น พระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระปลัดดวงจันทร์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า พุทธาจาโร

หลังอุปสมบท ได้ทั้งพระอาจารย์สิงห์และพระอาจารย์มหาปิ่น ปัญญาพโล พระป่าสองพี่น้อง เป็นอาจารย์ชี้แนะแก้ไขข้อธรรมและการปฏิบัติกัมมัฏฐาน จนเข้าใจแจ่มแจ้ง

ผนวกกับจิตใจที่ปรารถนาความสงบตามป่าเขา ซึ่งเหมาะแก่การบำเพ็ญภาวนาเพื่อความก้าวหน้าทางจิต จนออกแสวงหาที่สงบวิเวกไปตามป่าตามถ้ำอยู่เสมอ ทั้งวัดป่าวิเวกธรรม จ.ขอนแก่น, ถ้ำพระเวส, วัดป่านาแก อ.นาแก จ.นครพนม, ภูระงำ จ.ขอนแก่น, วัดป่าสาลวัน จ.นครราชสีมา, วัดสันติธรรม จ.เชียงใหม่, ถ้ำผาเกิ้ง จ.เชียงใหม่

จนในปี พ.ศ.2510 มาพบถ้ำผาปล่อง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ซึ่งพิจารณาเป็นสถานที่สัปปายะที่ เหมาะสมมากที่สุด

จึงได้เริ่มพัฒนาถ้ำผาปล่องขึ้นเป็นสำนักสงฆ์ จากนั้นได้จำพรรษาอยู่ที่ ถ้ำผาปล่อง

หลวงปู่สิมเคยพรรณนาให้ศิษย์ฟังว่า “ถ้ำผาปล่องนี้เป็นที่สัปปายะด้วยประการทั้งปวง มีทั้งแหล่งน้ำ ป่าไม้ ภูเขา หน้าร้อนอากาศเย็นสบาย ไม่ต้องติดแอร์ แต่ถ้าหน้าหนาวก็หนาว”

ตำแหน่งคณะสงฆ์ พ.ศ.2502 รักษาการเจ้าอาวาสวัดอโศการาม พ.ศ.2508 เจ้าอาวาสวัดป่าสุทธาวาส พ.ศ.2509 เจ้าอาวาสวัดสันติธรรม

พ.ศ.2510 เจ้าอาวาสวัดถ้ำผาปล่อง เป็นพระเถระอีกรูปที่มีศีลาจารวัตรที่งดงามน่าเลื่อมใสศรัทธา แม้สังขารเข้าล่วงวัยชรา แต่ด้วยสุขภาพที่แข็งแรง ก็ยังได้ออกมารับญาติโยมที่เดินทางมาจากแดนใกล้ไกลไปคารวะนมัสการทุกวันมิได้ขาด

ทุกครั้งที่ญาติโยมขอพรขอศีล จะบอกหลักธรรม เมื่อใครได้เข้ากราบไหว้ทำให้จิตใจสงบและร่มเย็นเป็นสุข เมื่อได้สดับฟังหลักธรรม

ธรรมะคำสอนที่ให้ศิษย์ทั้งหลายนั้น ล้วนแล้วแต่คมคายน่าสนใจ แต่จะเน้นไปที่การลงมือทำจริง ด้วยหลักที่ยึดถือว่าเป็นผู้ปฏิบัติเท่านั้น จึงรู้ได้ด้วยตน ยกตัวอย่าง

“เมื่อจิตมาครอบครองยึดมั่น ถือมั่น ในหน้า ในตา ในตัว ในตน ในสบาย ในไม่สบาย เรื่องต่างๆ ก็เกิดขึ้นนับไม่ถ้วน จงวางใจของตัวเองให้เฉยอยู่ ไม่ต้องคิดภายนอกภายในอะไร พุทโธในใจ มรณัง มรณัง ความตายเตือนใจของตัวเอง ท่องให้มองเห็นความตาย ได้ก็เฉย แค่ตายเท่านั้น เมื่อเลยตายไปแล้วจิตก็วางเฉย ทุกคนจำเป็นต้องตาย ใครจะกระวนกระวายอย่างใดก็ว่ากันไป ผลที่สุดก็ถึงที่สุดนั้นทุกรูปทุกนาม”

หรือ “ตายแล้ว ถ้าไม่หมดกิเลสก็เกิดอีก เพราะกิเลสมันพาเกิดพาตาย เพราะจิตที่ยังหลงใหลอยู่ในความโกรธ โลภ หลง ยึดตัว ถือตน เป็นจิตที่ยังหลงเหลืออยู่ ยังยึดอยู่ ถืออยู่ ยังไม่แจ้งในจิตในใจ ถ้าตายเมื่อใดก็เกิด ถ้าแจ้งในจิตในใจแล้ว เมื่อความตายมาถึง ก็ไม่สะทกสะท้าน ไม่ทุกข์ ไม่ร้อน ไม่จัดว่าตาย ท่านว่านิพพาน”

ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2502 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ พระครูสันติวรญาณ

ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง วันที่ 12 ส.ค.2535 หลวงปู่สิม ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ “พระญาณสิทธาจารย์”

แต่ยังมิทันที่ความปลาบปลื้มปีติของบรรดาคณะศิษย์จะปลาสนาการ ความเศร้าเสียใจก็เข้ามาแทนที่

ด้วยถัดมาเพียง 2 วัน มรณภาพอย่างสงบ เมื่อวันที่ 14 ส.ค.2535 สิริอายุ 83 ปี พรรษา 63

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน