ย้อนไปเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 19 ตุลาคม 2566 สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จลง ณ พระอุโบสถ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร เขตพระนคร กรุงเทพฯ ประทานพระวโรกาสให้ นายกฤษณพงศ์ กีรติกร นายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นำ นายจงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เฝ้าถวายปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาวนศาสตร์ แด่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ซึ่งสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีมติเป็นเอกฉันท์ในการประชุมครั้งที่ 6/2566 เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2566

เพื่อเฉลิมพระเกียรติคุณ ด้วยทรงปฏิบัติพระกรณียกิจ ด้านวนศาสตร์ ทางระบบนิเวศ กับการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ทรงสนพระทัยการอนุรักษ์ทรัพยากร ธรรมชาติ ป่าไม้ แหล่งน้ำ และการพัฒนาพื้นที่สีเขียว ด้วยพระประสบการณ์ด้านการฟื้นฟูระบบนิเวศ ทรงปลูกฝังค่านิยมและคุณธรรมจริยธรรม ให้แก่พุทธศาสนิกชน ใน “โครงการคืนธรรมชาติสู่ธรรม ในพระสังฆราชูปถัมภ์” อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้ง มีพระดำริให้กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดทำโครงการธรรมจักรสีเขียว เพื่อมอบรางวัลให้แก่วัด ชุมชน และประชาชนในท้องถิ่น อันเป็นการกระตุ้นการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน

โอกาสนี้ สมเด็จพระสังฆราชประทานพระสัมโมทนียกถา ความตอนหนึ่งว่า “แท้จริงแล้วก่อนที่จะมีวัด เป็นถาวรวัตถุปลูกสร้างขึ้นสำหรับพระภิกษุพำนักดังเช่นปัจจุบัน ภิกษุในพระพุทธศาสนาล้วนอาศัยในป่าเพื่อบำเพ็ญสมณธรรมกัน ทั้งนั้น เพราะฉะนั้น คำว่า ‘วนะ’ หรือ ‘วัน’ ดังที่ปรากฏในชื่อวัดต่างๆ ครั้งพุทธกาล เช่น เวฬุวัน, เชตวัน, มหาวัน จึงหมายถึงป่าไม้นั่นเอง

เจตนารมณ์ของบูรพาจารย์ที่สืบทอดกันมา จึงสนับสนุนให้ภิกษุเป็นผู้ยินดี ในป่า ที่สงบสงัด ที่หลีกเร้นเป็นสัปปายะ ไม่ทำลาย ไม่วางตนอย่างแปลกแยก และไม่กีดขวางความผาสุกของสรรพชีวิตน้อยใหญ่ ซึ่งดำรงอยู่ร่วมกันในระบบนิเวศตามธรรมชาติ นับเป็นเครื่องยืนยันว่าพระพุทธศาสนาและการครองชีวิตของสมณะตาม พระธรรมวินัย มีวิถีที่สอดคล้องกับการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อมได้อย่างลงตัว

ความจริงข้อนี้ ทำให้อาตมภาพระลึกถึงหลักพระพุทธศาสนา เรื่องความสามัคคี มีมาในพระบาลี ความว่า ‘สมคฺคา สขิลา โหถ, เอสา พุทฺธานุสาสนี.’ แปลความว่า ‘ท่านทั้งหลายจงเป็นผู้ พร้อมเพรียง มีความประนีประนอม กันเถิด นี้เป็นพระพุทธานุศาสนี.’ ดังนี้

‘วนศาสตร์’ เป็นศาสตร์ว่าด้วยการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม การฟื้นฟูป่าไม้ การสร้างป่าเศรษฐกิจ และการนำเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์จากป่าไม้ โดยคำนึงถึงความยั่งยืนอย่างสอดผสานกันทุกมิติ ผู้ศึกษาและปฏิบัติการในศาสตร์นี้ จึงจำเป็นต้องตั้งทิฐิไว้ชอบ ให้อยู่ในกรอบอุดมการณ์แห่งสามัคคีธรรม คำนึงถึงความพร้อมเพรียงกลมกลืนกันของทุกสายสัมพันธ์ในระบบนิเวศองค์รวม โดยเข้าใจบริบทของโลกที่ผันแปรไปอยู่ตลอดเวลา อย่างรอบคอบและรอบรู้อยู่เสมอ

ขออนุโมทนาอีกครั้งในกัลยาณจิต ที่ท่านทั้งหลายได้นำเกียรติยศนี้มามอบให้ ขอเชิญชวนให้ทุกท่านร่วมกันอนุรักษ์และบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติด้วยสามัคคีธรรม ให้ธรรมชาติอยู่คู่เคียงกับวิถีแห่งธรรมะ และขออำนวยพรให้ท่านทั้งหลายจงเจริญด้วยจตุรพิธพรชัย ประสบแต่ความสุขความเจริญ สำเร็จสมความมุ่งมาดปรารถนา ทุกประการเทอญ”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน