วงการคณะสงฆ์ สูญเสียพระเถระ ชั้นผู้ใหญ่รัตตัญญู

“พระเทพมงคลวชิรมุนี” หรือ “หลวงปู่หา สุภโร” อดีตเจ้าอาวาสวัดสักกะวัน (ภูกุ้มข้าว) ต.โนนบุรี อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ และที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์

มรณภาพอย่างสงบ ด้วยชราภาพ เมื่อวันศุกร์ที่ 24 พ.ย.2566 เวลา 17.52 น. ที่โรงพยาบาลวิชัยยุทธ กรุงเทพฯ

สิริอายุ 98 ปี พรรษา 77

สร้างความเศร้าสลดและอาลัยเป็นอย่างยิ่ง

เป็นพระเถราจารย์ผู้ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด ที่ชาวกาฬสินธุ์ต่างเลื่อมใสศรัทธา

นามเดิมว่า หา ภูบุตตะ เกิดเมื่อวันศุกร์ที่ 2 ก.ค.2468 อายุ 95 ปี ที่บ้านนาเชือก ต.เว่อ (ปัจจุบัน ต.นาเชือก) อ.ยางตลาด (ปัจจุบันเป็นอำเภอเมือง) จ.กาฬสินธุ์ บิดา-มารดา ชื่อ นายสอและนางบัวลา ภูบุตตะ

ช่วงวัยเยาว์สำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่โรงเรียนวัดบ้านนาเชือกเหนือ

ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้รับคัดเลือกให้เป็นทหารอาสา เพื่อไปร่วมรบในสงคราม และเข้ารับการฝึกซ้อมรบ ปรากฏว่า สงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลงก่อนในปี พ.ศ.2488

ครั้นอายุย่าง 21 ปี เข้าพิธีอุปสมบท ที่วัดสว่างนิวรณ์นาแก ต.นาเชือก อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ มีหลวงปู่ลือ เป็นพระอุปัชฌาย์ สังกัดมหานิกาย

อยู่จำพรรษาที่วัดสุวรรณชัยศรี ขณะนั้นการปกครองในคณะสงฆ์ยังไม่ทั่วถึงมากนัก การบวชของคณะธรรมยุตและคณะมหานิกาย ยังไม่แยกจากกัน ยังคงใช้ พระอุปัชฌาย์รูปเดียวกัน

ในปี พ.ศ.2490 คณะสงฆ์ประกาศว่า พระอุปัชฌาย์สังกัดนิกายใด ผู้บวชต้องสังกัดนิกายนั้น พระครูประสิทธิ์สมณญาณ เจ้าอาวาสวัดสุวรรณชัยศรี (ศิษย์อุปัฏฐากหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต สมัยท่าน จำพรรษาอยู่แถบจังหวัดเชียงใหม่) ซึ่งเป็นพระอาจารย์ จึงได้ขึ้นไปอบรมการเป็นพระอุปัชฌาย์ของคณะธรรมยุต

ต่อมา อายุ 22 ปี ได้ญัตติเป็นธรรมยุต ที่สิมน้ำ วัดบ้านหนองโจด (ปัจจุบันเป็นที่นาชาวบ้าน) ต.นาเชือก อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ เมื่อวันที่ 21 ก.พ.2490

มีพระครูประสิทธิ์สมณญาณ เป็น พระอุปัชฌาย์, พระครูปลัดอ่อน ขันติโก เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระใบฎีกาทองสุข สุจิตโต เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายา สุภโร

ลำดับงานปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ.2498 เป็นเจ้าอาวาสวัดสักกะวัน ต.โนนศิลา อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ พ.ศ.2498 เป็น เจ้าคณะตำบลโนนศิลา พ.ศ.2502 เป็น เจ้าคณะอำเภอสหัสขันธ์-กุฉินารายณ์-ท่าคันโท ฝ่ายธรรมยุต

พ.ศ.2539 เป็นรองเจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์ (ธ)

พ.ศ.2548 เป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์ (ธ)

ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2505 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นตรี ที่ พระครูวิจิตรสหัสคุณ พ.ศ.2508 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นโท ในราชทินนามเดิม

พ.ศ.2520 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอก ในราชทินนามเดิม

พ.ศ.2541 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ฝ่ายวิปัสสนาธุระที่ พระญาณวิสาลเถร

ล่าสุด พ.ศ.2564 ได้รับพระราชทานตั้งสมณศักดิ์ขึ้น เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ในราชทินนามที่ พระเทพมงคลวชิรมุนี วิ.

ในปี พ.ศ.2510 ท่านย้ายวัดสักกะวัน จากตำบลโนนศิลา มาอยู่พื้นที่ภูกุ้มข้าว อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ จากนั้นพัฒนาวัดสักกะวัน โดยการสร้างอุโบสถ วิหาร และตัดถนนรอบวัดจำนวน 5 สาย รวมทั้งก่อสร้างเมรุเผาศพ

คณะศิษย์ถวายฉายานามว่า “หลวงปู่ไดโนเสาร์” เนื่องจากครั้งหนึ่งนอนหลับฝันเห็นไดโนเสาร์ตัวใหญ่คอยาวเดินอยู่บริเวณเชิงเขาภูกุ้มข้าว ครั้นตื่นขึ้นจึงให้ลูกศิษย์ไปตรวจสอบพื้นที่ดังกล่าว ขณะนั้น ฝนตกหนัก พื้นดินสูงโดนน้ำเซาะจนเห็นกระดูกชิ้นใหญ่หลายสิบชิ้นกระจัด กระจายอยู่ทั่วไป หลวงปู่สั่งให้คนเก็บกระดูกนั้นไว้และส่งข่าวไปยังนายอำเภอเพื่อตรวจสอบ

ภายหลังได้รวบรวมฟอสซิลไดโนเสาร์จากทั่วสารทิศมารวมที่วัดสักกะวันและก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ เพื่อศึกษาเกี่ยวกับสัตว์โลกล้านปี ได้รับพระราชทานนามว่า “พิพิธภัณฑ์สิรินธร”

กำหนดการพระราชทานเพลิง วันเสาร์ที่ 16 ธ.ค.2566 ณ เมรุชั่วคราววัดสักกะวัน

วันศุกร์ที่ 15 ธ.ค. เวลา 08.00 น. เชิญหีบศพเวียนเมรุ แล้วเชิญขึ้นตั้งบน จิตกาธาน เวลา 08.30 น. พิธีบำเพ็ญกุศล 15 วัน (ปัณรสมวาร)

วันเสาร์ที่ 16 ธ.ค. เวลา 15.30 น. พระราชทานเพลิง

วันอาทิตย์ที่ 17 ธ.ค. เวลา 07.30 น. พิธีสามหาบเก็บอัฐิ

นับแต่นี้ คงเหลือไว้แต่คุณงามความดี ให้อนุชนรุ่นหลังได้กล่าวขานสืบไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน