เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. ที่รัฐสภา นายนิกร จำนง ประธานคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เปิดเผยว่าตนได้ ลงนามหนังสือถึงนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร และนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภาเพื่อให้ ส่งคำถามประชามติในส่วนที่จะขอความเห็นของ สส. 500 คน และ สว. 250 คน ให้พิจารณาหลังจากที่รัฐสภาเปิดสมัยประชุมวันที่ 12 ธ.ค. เบื้องต้นคาดว่าจะมีข้อสรุปในส่วนดังกล่าว ช่วงวันที่ 21 ธ.ค.นี้

คำถามที่ส่งไปยัง สส. และ สว. จะเป็นคำถามเชิงลึกมีมากกว่า 1 คำถาม เป็นคำถามสำคัญและมีผลต่อการสนับสนุนของสมาชิกรัฐสภา โดยเฉพาะ สว. ที่ต้องเห็นชอบด้วยเสียง 1 ใน 3 และคำถามของที่มาของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ว่าจะเลือกตั้งทั้งหมด หรือเลือกตั้งผสมกับนักวิชาการ

ประเด็นการรับฟังความเห็นที่รวบรวมมาทั้งหมด จะเสนอให้คณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการจัดทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่าง ในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 พิจารณาในปลายเดือนธ.ค.นี้ ก่อนส่งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในการทำประชามติถามประชาชน

สำหรับข้อเสนอการแก้พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ได้ทำข้อเสนอไปยังคณะกรรมการชุดใหญ่ พร้อมกับร่างแก้ไขมาตรา 13 จากเดิมที่ใช้เกณฑ์เสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิ และเสียงที่มาลงคะแนน ได้เสนอให้ใช้เกณฑ์เกินกึ่งหนึ่งเพียงชั้นเดียว คือ เฉพาะผู้ออกมาใช้สิทธิที่ต้องเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ ส่วนผลการลงคะแนนให้ใช้เฉพาะเสียงข้างมาก

ข้อสรุปเรื่องดังกล่าวนี้ต้องรอผลการศึกษาจากนายวุฒิสาร ตันไชย ประธานคณะอนุกรรมการศึกษาแนวทางทำประชามติให้สอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอีกครั้ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คำถามสำหรับการรับฟังความคิดเห็น เบื้องต้นของสส. และ สว. เกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 มีประเด็นที่ต้องการคำตอบจากสมาชิกรัฐสภา 5 ข้อใหญ่ และ 2 ข้อย่อย คือ

1.เห็นสมควรจะทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ มีตัวเลือกให้เลือก 3 คำตอบ

-เห็นสมควรจัดทำทั้งฉบับ ยกเว้นหมวด 1 หมวด 2

-จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ

-ไม่เห็นสมควรให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

2.ในกรณีที่เห็นว่าไม่ควรจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ เห็นสมควรแก้เป็นรายมาตราหรือไม่

3.ในกรณีเห็นควรจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เนื้อหารัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มีปัญหาประการใดที่จำเป็นต้องแก้ไข ซึ่งสามารถเลือกคำตอบได้มากกว่า 1 ข้อ

-การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน

-การมีส่วนร่วมทางการเมือง

-ระบบการตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหารฝ่ายตุลาการและองค์กรอิสระ

-วิธีและกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปได้ยาก

-อื่นๆ

4.ในการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ สมควรตั้ง ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งหมดหรือไม่ มีตัวเลือก 2 คำตอบ คือ สมควร หรือ ไม่สมควร

ในข้อดังกล่าวมีคำถามย่อย คือ สมควรตั้ง ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยมีนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญในสัดส่วนและวิธีการได้มาตามที่กรรมาธิการกำหนด มีให้เลือก 2 คำตอบ คือ สมควร หรือ ไม่สมควร

5.คำถามเกี่ยวกับในการจัดทำประชามติ มี 2 คำถามย่อย คือ

-เห็นด้วยหรือไม่ที่จะจัดทำประชามติก่อนเริ่มดำเนินการใดๆ ในกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 4/2564 มีให้เลือก 2 คำตอบ คือ เห็นด้วย หรือ ไม่เห็นด้วย

-เห็นด้วยหรือไม่ที่จะจัดให้มีการทำประชามติ เมื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว เพื่อให้ประชาชนเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้ง ก่อนนายกรัฐมนตรีจะนำร่างขึ้นทูลเกล้าฯ มีให้เลือก 2 คำตอบ คือ เห็นด้วย และ ไม่เห็นด้วย

การรับฟังความเห็นดังกล่าว ทางอนุกรรมการระบุว่าในส่วนของสส. ขอให้ตอบคำถามและส่งกลับภายใน 13 ธ.ค. และส่งคืนให้อนุกรรมการ 14 ธ.ค. ส่วนของสว. ระบุให้ตอบคำถามภายใน 18-19 ธ.ค. และส่งคืนให้อนุกรมการ ภายใน 20 ธ.ค.นี้

วันเดียวกัน ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาศึกษาการจัดทำข้อเสนอระบบเลือกตั้งและแนวทางการทำงานของส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้ง ในกมธ.การพัฒนาการเมืองฯ สภาผู้แทนราษฎร

อนุกมธ. ที่มี นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เป็นประธาน ได้เชิญนักวิชาการและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าร่วมรับฟังความเห็น

นายพริษฐ์กล่าวว่า การศึกษาโมเดล ส.ส.ร. เพื่อต้องการให้ ส.ส.ร.หลากหลาย ยึดโยงกับประชาชน สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมถึงให้ ส.ส.ร.ทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญภายในเวลาที่จำกัดอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นประชาธิปไตย

ข้อเสนอแรก ให้ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด โดยใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง และส.ส.ร.คือตัวแทนพื้นที่ ส่วนที่มีข้อกังวลต่อการมีส่วนร่วมของ ผู้เชี่ยวชาญ และกลุ่มหลากหลายทางสังคม มีข้อเสนอให้เพิ่มผู้เชี่ยวชาญ ทำหน้าที่กรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ และส่งให้ ส.ส.ร.ชี้ขาดก่อนเสนอต่อประชาชน

ข้อเสนอที่สอง ให้ ส.ส.ร.มาจากองค์ประกอบ 3 ส่วน คือ ตัวแทนพื้นที่ คือ การเลือกตั้งจากประชาชน, ตัวแทนผู้เชี่ยวชาญ หรือผู้มีประสบการณ์ และตัวแทนกลุ่มเฉพาะ หรือกลุ่มวิชาชีพ ซึ่งอาจใช้ระบบเลือกตั้ง เช่น รูปแบบการแบ่งเป็นกลุ่มจังหวัด เป็นต้น

สำหรับรูปแบบเลือกตั้งตามที่อนุกมธ. พิจารณาทางเลือกแรก คือ ใช้การแบ่งเขตเลือกตั้ง ประชาชน 1 คน สามารถเลือก ส.ส.ร.ได้ 1 คน

ทางเลือกสอง ประชาชนสามารถโหวตส.ส.ร.ได้ตามจำนวนที่เขตเลือกตั้งนั้นกำหนดให้มี ส.ส.ร.

ทางเลือกสาม ให้ประชาชนเลือกผู้สมัคร ส.ส.ร. กี่คนก็ได้ตามที่ตนเองเห็นชอบหรือยอมรับ ส่วนผู้ชนะจะอยู่ในลำดับที่ 1-3 เป็นต้น นอกจากนั้นจะมีบทกำหนดผลประโยชน์ทับซ้อน คือ ห้าม ส.ส.ร.ลงเลือกตั้ง เป็น สส. สว. องค์กรอิสระในระยะเวลาหนึ่ง เช่น 3-5 ปี

ด้าน นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา กรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ และ อดีตส.ส.ร. ปี 2540 กล่าวสนับสนุนการใช้ รูปแบบที่มาของ ส.ส.ร.ปี 2540 ที่มี 99 คน และมีกรอบเวลายกร่างรัฐธรรมนูญ 240 วัน การกำหนดจำนวนดังกล่าวเหมาะสมไม่เสียงบประมาณมาก และเป็นประชาธิปไตยที่ดี สำหรับที่มาของส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งนั้นไม่ควรเป็นระบบซับซ้อนหรือพิสดาร เพราะคนไปใช้สิทธิจะสับสน

นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล นักวิชาการคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เห็นด้วยที่ให้ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้ง แต่ต้องจัดระบบเลือกตั้งให้เหมาะสม เช่น ใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง และคำนึงถึงสัดส่วนของประชากรในแต่ละพื้นที่เพื่อให้เป็นตัวแทนของประชาชนร่วมเป็น ส.ส.ร.

ที่สำคัญการออกแบบรัฐธรรมนูญไม่ควรมีเนื้อหายาวเกินไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน