การย้ายพ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ไปเป็นรองปลัดกระทรวงยุติธรรม สร้างคำถามขึ้นมากมายในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคำสั่งย้ายครั้งนี้เกิดขึ้นคล้อยหลังที่เจ้าตัวนำกำลังเข้าตรวจค้นห้างดังเพื่อหาหลักฐานโยงคดีหมูเถื่อนเพียงแค่วันเดียว

จึงเกิดคำถามขึ้นว่าที่ย้ายเพราะคดีล่าช้าหรือเพราะ “สะดุดตอ”

เรื่องนี้นายเศรษฐา ทวีสิน เคยออกมา ระบุว่า อยากให้เร่งดำเนินการเรื่องหมูเถื่อนโดยเร็วที่สุด และดำเนินคดีผู้ทำผิดกฎหมาย โดยเน้นไปที่รายใหญ่ “เน้นจับกุมต้นตอรายใหญ่ให้ได้ เพื่อจะได้จบปัญหา เพราะหากจับกุมรายเล็ก ปัญหาก็ไม่มีวันจบสิ้น”

ลือกันจน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมต้องออกมาสยบข่าวลือ ยืนยันหนักแน่นว่า การแต่งตั้งโยกย้ายของกระทรวงยุติธรรมในครั้งนี้ เป็นการโยกย้ายไปแทนตำแหน่งอื่น ไม่มีการกลั่นแกล้งหรือมีอคติใดๆ รวมทั้งไม่เกี่ยวข้องกับคดีหมูเถื่อน ซึ่งคดีหมูเถื่อนจะเดินหน้าต่อไปจนถึงที่สุด

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม แจงปมโยกย้าย

ปฐมบทคดีหมูเถื่อน

ปัญหาหมูเถื่อนเริ่มจากวิกฤตการระบาดของ “โรคอหิวาต์ แอฟริกันในสุกร” (African Swine Fever) หรือ ASF เมื่อปี 2564 ส่งผลให้หมูหายไปจากระบบกว่า 10 ล้านตัว ช่วงต้นปี 2565 ราคาหมูเนื้อแดงในประเทศพุ่งขึ้นไปใกล้แตะ 300 บาท/ก.ก. เมื่อความต้องการสูง แต่ผลผลิตไม่เพียงพอ จนเกิดการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนจากประเทศอื่นๆ เช่น ประเทศในโซนยุโรป สเปน บราซิล เพราะสามารถขายได้ในราคาถูก

ความมาแตกก็ตอนที่ท่าเรือแห่งประเทศไทยดำเนินการโครงการท่าเรือสีขาว เมื่อมิถุนายน 2566 จึงเปิดตู้คอนเทนเนอร์ตรวจสอบสินค้าตกค้าง ณ ด่านศุลกากรแหลมฉบัง พบตู้สินค้าเนื้อหมูและชิ้นส่วนตกค้างอยู่ 161 ตู้ ปริมาณซากหมูกว่า 4.5 ล้านกิโลกรัม กรมศุลกากรมีหนังสือถึงกองบัญชาการ ตำรวจสอบสวนกลาง ให้ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด รวมถึงบุคคลที่เกี่ยวข้อง ขณะเดียวกันกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ก็ได้รับคดีดังกล่าวเป็นคดีพิเศษ

แนวทางสืบสวนพบว่า เมื่อเนื้อหมูในตู้คอนเทนเนอร์ถึงท่าเรือแหลมฉบัง จะถูกแจ้งสำแดงว่าเป็น “เนื้อปลา” ส่วนใหญ่เป็นหัวปลาแซลมอนแช่แข็ง หรืออาหารแช่เย็นแช่แข็ง โดยนายทุนที่นำเข้าจะจ่ายเงินให้บริษัทชิปปิ้งเอกชน เป็น “ค่าเคลียร์ของ” ตกตู้ละ 30,000 บาท และชิปปิ้งเอกชนจะรับหน้าที่ในการจ่ายให้กับ เจ้าหน้าที่รัฐ เมื่อได้รับสินค้ามาก็จะกระจายส่งไปยังห้างสรรพสินค้า หรือศูนย์กระจายสินค้าขนาดใหญ่ ไม่ใช่เขียงหมูตามตลาดนัดทั่วไป

กระทั่งเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน ที่ทำเนียบรัฐบาล ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยพ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ), นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์, นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง, พล.ต.ต.เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ รองเลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และนายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร เปิดแถลงกระชากหน้ากากขบวนการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อน ระบุว่ามีพฤติกรรมเป็นองค์กรอาชญากรรม และสามารถสืบสวนถึงต้นตอได้ทั้ง 161 ตู้ ประกอบด้วยกลุ่มนักการเมือง กลุ่มพ่อค้ารวมทั้งกลุ่มระดับลูกจ้างทั้งหมด พร้อมประกาศเซ็ตซีโร่ ตรวจค้นห้องเย็นทั่วประเทศ

ขณะที่ พ.ต.ต.สุริยากล่าวว่า องค์กรอาชญากรรมดังกล่าว ประกอบด้วย 3 กลุ่ม คือ นายทุน ข้าราชการการเมือง อดีตข้าราชการ จากการตรวจสอบพบว่ามีความเกี่ยวพันกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ เบื้องต้นเป็นหลัก 10 ราย จึงต้องดำเนินการส่งสำนวนไปถึงสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เรียบร้อย เพื่อให้ดำเนินการกับผู้เกี่ยวข้องกับของกลาง 161 ตู้ มี ผู้ต้องหา 1 รายที่มอบตัวแล้ว คือนายสมนึก กยาวัฒนกิจ ที่เป็นหนึ่งในผู้สั่งนำเข้าเนื้อหมูเถื่อนเข้ามาที่ท่าเรือแหลมฉบังที่ถูกออกหมายจับ โดยพบว่านายสมนึกสั่งนำเข้าเนื้อหมูเข้ามาตั้งแต่ปี 2564 จำนวน 2,385 ตู้ โดยจะเร่งดำเนินการเอาผิดทั้งหมด ส่วนเรื่องยึดทรัพย์ก็จะทำคู่ขนานไปด้วย

เจ้าหน้าที่ดีเอสไอบุกตรวจห้องเย็น

เจออีกแก๊ง-3 ปีนำเข้านับหมื่นตู้

ส่วนพล.ต.ต.เอกรักษ์เผยว่า คดีหมูเถื่อน 161 ตู้ดังกล่าว ปปง.ยึดทรัพย์กลุ่มแรกได้แก่ นอมินีและบริษัทชิปปิ้ง 8 บุคคล 6 บริษัท รวมกว่า 63 ล้านบาท และจะพยายามยึดทรัพย์กลุ่มต่อไป ไม่ว่าจะเป็นผู้ต้องหาที่ถูกดำเนินคดี ผู้ที่เกี่ยวข้องสำคัญรับโอนเงินรับผลประโยชน์จากผู้กระทำความผิด อยู่ในกลุ่มที่สำนักงานปปง.จะดำเนินการทางแพ่งและยึดทรัพย์มาดำเนินคดีทางชั้นศาลทั้งหมด

จากข้อมูลของกรมศุลกากร เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2566 พบว่า หมูเถื่อนแพร่ระบาดเข้ามาในประเทศไทยเป็นเวลากว่า 3-4 ปีแล้ว โดยสถิติการจับกุม ปี 2564 จับกุม 14 ราย น้ำหนัก 236,177 กิโลกรัม ปี 2565 จับกุม 25 ราย น้ำหนัก 431,660 กิโลกรัม ขณะที่ปี 2566 จับกุมพุ่งขึ้นเป็น 181 ราย น้ำหนัก 4,772,073 กิโลกรัม รวม 3 ปี มีหมูเถื่อนที่เข้าไทย 5,439,910 กิโลกรัม หรือ 5,439 ตัน

ดีเอสไอยังออกมาระบุข้อมูลที่สอดคล้องกัน เมื่อพ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดี เรียกประชุมผู้บริหารและทีมทำคดีหมูเถื่อน เพื่อพิจารณารับเรื่องร้องทุกข์ใหม่ กรณีที่บริษัทนำเข้าหมูเถื่อน ซึ่งไม่ใช่กลุ่มบริษัทเดิมที่กำลังถูกดำเนินคดี 10 ราย จำนวน 161 ตู้ แต่เป็น กลุ่มบริษัทใหม่ พบข้อมูลการนำเข้าตั้งแต่ปี 2563-2566 น่าจะสูงถึง 10,000 ตู้ ที่สำคัญเป็นการนำเข้าแบบสำแดงเท็จ ทำให้รัฐสูญเสียภาษีนำเข้ามหาศาล

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ตั้งโต๊ะแถลงคดีหมูเถื่อน ที่ทำเนียบ

คลิปโผล่ซัดกันนัว

พอมีข้อมูลว่ามีนักการเมืองเอี่ยวด้วย ก็มีคลิปการสนทนาระหว่างชาย 2 คน โดยชายในปลายสายระบุว่า อยากให้ช่วยเรื่องสินค้า 38 ตู้ ที่มีการฟ้องร้องกัน 200 กว่าล้าน ที่อธิบดีไปแกล้งเขาไว้ โดยปลายสายยังระบุอีกว่า เรื่องนี้เกิดก่อนที่จะเป็นคดี ตั้งแต่รัฐบาลที่แล้ว แต่เป็นคำสั่งของ…ที่มีบุคคลใกล้ชิดขอมาให้ตนช่วย โดยจะมีค่าบริหารจัดการให้ 10 กิโล (10 ล้านบาท)

ต่อมานายไทกร พลสุวรรณ ไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊กชี้แจงว่า ข้อเท็จจริงคือ ตนพูดคุยกับที่ปรึกษาคนหนึ่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ เพื่อจะนำเข้าตู้คอนเทนเนอร์จำนวน 38 ตู้ ซึ่งบรรจุเนื้อหมูที่สำแดงถูกต้อง เพื่อจะส่งออกต่อไปยังประเทศลาว แต่กรมปศุสัตว์ไม่ยอมออกใบอนุญาตเคลื่อนย้ายซากสัตว์ให้ ทำให้บริษัทเจ้าของตู้ได้รับผลกระทบ และมีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากกรมปศุสัตว์ เป็นเงินถึง 243 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้คดีอยู่ยังในการพิจารณาของศาล แต่ปฏิเสธเรื่องเงิน 10 ล้านบาท ว่าไม่เป็นความจริง

ร.อ.ธรรมนัสสวนทันควันว่า ยุทธการในการปราบปรามสินค้าผิดกฎหมาย มีทั้งการหาข่าว การตรวจสอบ ทั้งทางลับและใต้ดิน ส่วนจะเป็นการเจรจาขอให้ช่วยเหลือคดีหรือไม่ เนื่องจากตนเอง ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ และได้รับรายงานว่ามีกลุ่มที่จะเข้ามาเคลียร์ของให้กับบริษัทต่างๆ หากกลุ่มใดติดต่อมาได้กำชับให้ดำเนินการสืบสวนสอบสวน และเมื่อถึงเวลาตนเองจะแถลงข่าวเอง

“แนวทางการสืบสวนสอบสวนของเรา จะเอาผู้กระทำความผิดมาลงโทษ ดังนั้น อยากได้ปลาแล้วไม่เอาเบ็ดไปล่อก็คงไม่ได้ปลา เป็นสิ่งที่ทำให้รู้ว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยุคนี้เอาจริงเอาจัง ไม่ใช่จะมาเคลียร์กับคนใกล้ตัวตนเองแล้วจะได้ประโยชน์อย่างที่ตั้งใจไว้” ร.อ.ธรรมนัสกล่าว

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เรียกพ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล ไปสอบถามความคืบหน้าคดี

เปิดคำสั่งเด้งอธิบดีดีเอสไอ

วันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบโยกย้าย พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เป็นรองปลัดกระทรวงยุติธรรม ตามที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเสนอ โดยกระทรวงยุติธรรม ขอการแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนนโยบาย รวมทั้งการบริหารราชการของกระทรวงยุติธรรมเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และเกิดประโยชน์แก่ทางราชการ

จึงเห็นสมควรแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง กระทรวงยุติธรรม 2 ตำแหน่ง ดังนี้ 1.พ.ต.ท.ประวุธ วงศ์สีนิล รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม 2.พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กระทรวงยุติธรรม ให้ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงยุติธรรม

วันเดียวกัน เฟซบุ๊กกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้โพสต์ภาพ พ.ต.ต.สุริยา พร้อมกับข้อความ โดยระบุว่า “ทำใจอยู่ตลอดเวลา นับแต่มานั่งเป็นผู้บริหารสูงสุดที่นี่แล้วครับ ว่าต้องถึงวันนี้ แต่ผมเลือกทางเดินและวิถีผมเองตั้งแต่ต้น ไม่เสียใจครับ เพราะทำเต็มที่แล้ว เป็นเกียรติที่ได้ร่วมงานกับทุกท่านครับ 28 พ.ย. 2566”

พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล โพสต์หลังถูกย้าย

การโยกย้ายครั้งนี้เกิดขึ้นคล้อยหลังจากที่ พ.ต.ต.สุริยา นำกำลังเข้าตรวจค้น สำนักงานใหญ่ แม็คโคร (ประเทศไทย) ถนนพัฒนาการ แขวงพัฒนาการ เขตสวนหลวง กทม. เพื่อหาพยานหลักฐาน เอกสาร โยงขบวนการค้าหมูเถื่อนเพียง วันเดียว

พ.ต.ต.สุริยาชี้แจงการเข้าค้นว่า จากที่ดำเนินคดีบริษัทเว้ลท์ซี่ แอนด์ เฮ็ลธ์ซี ฟูดส์ จำกัด (WEALTHY & HEALTHY FOODS CO., LTD) จับกุมผู้ต้องหา 2 คน พบหลักฐานระบุว่ามีการส่งสินค้าตับหมูมายังแม็คโคร

ขณะที่นางศิริพร เดชสิงห์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานการสื่อสารองค์กร (แม็คโคร) ชี้แจงว่า รับซื้อสินค้ากับบริษัทดังกล่าวจริง ทั้งเนื้อหมูและปลา อาหารทะเลแช่แข็ง แต่เมื่อช่วงกลางปี 2565 ตรวจสอบพบว่ามีการเจือปนสารเร่งเนื้อแดงเกินปริมาณ ต่อมาต้นปี 2566 ตรวจพบตับหมูไม่ได้คุณภาพจึงหยุดรับซื้อทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม มติ ครม.โยกย้าย พ.ต.ต.สุริยา ครั้งนี้ไม่ได้สร้างความประหลาดใจให้กับข้าราชการในดีเอสไอมากนัก เพราะก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวปรับย้ายมาระยะหนึ่งแล้ว จากการทำงานในภาพรวมของดีเอสไอที่ค่อนข้างล่าช้า ทั้งคดีทุจริตโกงหุ้น STARK มีผู้เสียหายทั้งสิ้นจำนวน 4,704 ราย มูลค่าความเสียหายจำนวน 14,778 ล้านบาท คดีปั่นหุ้นมอร์ (MORE) ที่มีมูลค่าความเสียหายประมาณ 800 ล้านบาท รวมทั้งคดีหมูเถื่อน 161 ตู้

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาการบริหารงานภายในดีเอสไอ ที่มีการร้องเรียนไปยังแกนนำพรรครัฐบาล นอกจากนี้ยังมีกระแสข่าวจากข้าราชการดีเอสไอบางกลุ่มที่วิพากษ์วิจารณ์ว่า ก่อนหน้านี้ พ.ต.ต.สุริยาทราบว่าจะมีการปรับย้ายในการประชุม ครม. ครั้งนี้และพยายามเจรจาแต่ไม่เป็นผล

การตัดสินใจเข้าบุกค้นห้างดังก่อนครม.จะมีมติเพียงวันเดียว ก็หวังให้เกิดประเด็น และไปๆ มาๆ กลายเป็นกระแส “เจอตอ” จากฝ่ายที่จ้องโจมตีรัฐบาล

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน