10 ธันวา วันรัฐธรรมนูญ รำลึกกันทุกปี ทั้งที่ 91 ปีมีรัฐประหาร 13 ครั้ง ฉีกรัฐธรรมนูญซ้ำซาก มีรัฐธรรมนูญมากถึง 20 ฉบับ ติดอันดับ Top ของโลก

รัฐธรรมนูญ 15 ฉบับเขียนโดยรัฐประหาร 2 ฉบับหลัง 2550,2560 รัฐประหารทำประชามติ “มัดมือชก” รับไปก่อนแก้ทีหลัง รับรัฐธรรมนูญเลือกตั้งเร็ว ถ้าไม่รับ หัวหน้า คสช.จะหยิบเอาฉบับไหนมาก็ได้ ฯลฯ แล้วใช้ประชามติพันธนาการประชาธิปไตย สว.โหวตนายกฯ เป็นไปตามกติกา ถ้าจะแก้รัฐธรรมนูญต้องทำประชามติ

ณ วันนี้ที่ทั้งรัฐบาลฝ่ายค้านพยายามไปสู่ประชามติยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ประเด็นที่น่าตั้งคำถามคือ เรามีพลังแก้ได้แค่ไหน

พลังในที่นี้คือ พลังทางสังคม ความตระหนัก ตื่นรู้ เช่นประชาชนผู้ทำมาหากินอยู่กับปัญหาเฉพาะหน้า ไม่รู้ว่า รธน.60 ลับลวงพรางให้ คสช.ตั้ง 250 สว.โหวตนายกฯ

เพิ่งมารู้หลังเลือกตั้ง 62 และโกรธสุดๆ หลังเลือกตั้ง 66 ประชาชน 26 ล้านเสียงเลือก 8 พรรค กลับตั้งรัฐบาลไม่ได้

แต่เอ๊ะ เดือน พ.ค.ปีหน้า 250 สว.หมดวาระ แล้วเราจะแก้รัฐธรรมนูญเพื่ออะไร

แก้อำนาจ กกต. ป.ป.ช. ศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ ใช่ละ พลังสังคมโกรธ กกต.ยื่นแขวนพิธา ในวันโหวตนายกฯ ทั้งที่เรื่องหุ้นไอทีวีตีแผ่จนสาธารณชนสิ้นสงสัย แต่สังคมก็เคยสะใจการตัดสิทธิ สิระ เจนจาคะ, เอ๋ ปารีณา ก่อนจะไม่เห็นด้วยกับการตัดสิทธิ ช่อ พรรณิการ์

เราจะตัดข้อกำหนดเรื่องคุณสมบัติ สส. รัฐมนตรี ซึ่งทำให้เกิดอำนาจวินิจฉัยตีความอย่างกว้างขวาง เราจะตัดอำนาจแจกใบแดงใบดำของ กกต. (ซึ่งเลือกตั้งครั้งนี้หมดน้ำยา) เราจะตัดอำนาจชี้มูลประกาศิตของ ป.ป.ช. ครูทำผิดระเบียบไม่รอศาล ปลดจากราชการทันที หรือนักการเมืองขึ้นศาล ให้สันนิษฐานว่า ป.ป.ช.ถูกไว้ก่อน ฯลฯ เหล่านี้ได้ไหม

สังคมไทยเป็นสังคมอ่อนปรัชญา เชื่อยาแรง รัฐธรรมนูญ 2540 จึงให้กำเนิดองค์กรเทวดา เป็นอำนาจที่สี่ นี่เป็นตราบาป “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” แม้ปัจจุบันเสื่อมศรัทธากระบวนการยุติธรรม เราก็ตัดสินกันด้วยลูกขุนออนไลน์

เราพร้อมจะล้างอำนาจเหล่านี้หรือไม่ เป็นประเด็นใหญ่ที่ต้องจุดให้ติดในวาระแก้รัฐธรรมนูญ โดยตลกร้ายคือ นักการเมืองบ้านใหญ่อุปถัมภ์ที่เคยเป็นเป้า “รัฐธรรมนูญปราบโกง” วันนี้สวามิภักดิ์อำนาจแล้วไม่กลัวองค์กรอิสระ

การแก้ไขรัฐธรรมนูญ การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ในสถานการณ์นี้ควรตระหนักว่า การมีรัฐธรรมนูญไม่ได้แปลว่ามีเสรีภาพประชาธิปไตย 50 ปีหลัง 14 ตุลา 2516 ที่นักศึกษาประชาชนเรียกร้องรัฐธรรมนูญ

50 ปีที่ผ่านไป อำนาจเผด็จการ อำนาจอนุรักษนิยม ชาญฉลาดจนสามารถใส่ความไม่เป็นประชาธิปไตยไว้ในรัฐธรรมนูญที่เขียนบทบัญญัติสิทธิเสรีภาพอย่างสวยหรู

สิทธิสตรี ชาติพันธุ์ คนพิการ เสรีภาพทางวิชาการ เสรีภาพในการแสดงออก ฯลฯ เยอะไปหมดแต่กำกับด้วยคำว่า “ต้องไม่ขัดต่อหน้าที่ของปวงชนชาวไทยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน” ซึ่งตีความทีไร ไม่มีเสรีภาพทุกที

เรื่องตลกคือ รัฐประหารเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทีไร ก็จะมีตัวแทนองค์กรหลากหลาย ขอให้ใส่ข้อความดีๆ ไว้เต็มไปหมด ราวกับว่ากำหนดในรัฐธรรมนูญแล้วมันจะเป็นจริงได้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยจึงยาวเฟื้อย อาจจะยาวติดอันดับ Top ของโลก เห็นอะไรสวยหรูก็ยัดเข้าไป

เช่นรัฐธรรมนูญ 2560 นั้นตลกถึงขั้นเขียนให้ปฏิรูปประเทศ ให้มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวดูแลประชาชน แล้ว กรธ.ก็เอาไปใช้โปรโมตโฆษณา

แต่เวลาใช้จริง รัฐธรรมนูญถูกใช้ตีความจำกัดเสรีภาพประชาชน ลิดรอนอำนาจจากการเลือกตั้งของประชาชน

ภายใต้เสื้อคลุมรัฐธรรมนูญนิยม รัฐประหารไทยยังทำตลก กลายเป็นระบอบเผด็จการอันมีรัฐธรรมนูญ เช่น รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 แล้วยังใช้ ม.44 ตามรัฐธรรมนูญ 57 จนถึงเลือกตั้ง หรือรัฐประหารแล้วก็ยังมีศาลรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญไม่ใช่เครื่องหมายของประชาธิปไตยอีกต่อไป ปัจจุบันเราอยู่ในระบอบจำกัดเสรีภาพประชาธิปไตยแต่มีรัฐธรรมนูญรองรับ มีองค์กรกฎหมายพิทักษ์แทนกองทัพ มันจึงยากจะแก้ไข มีเพดานที่แตะไม่ได้

ในสถานการณ์ปัจจุบัน การให้ความสำคัญกับวันสิทธิมนุษยชน อาจเป็นผลดีต่อเสรีภาพประชาธิปไตยมากกว่าวันรัฐธรรมนูญ

การยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่จึงควรจะเน้นสั้นๆ ง่ายๆ แก้ไขง่าย เอาบทบัญญัติพร่ำเพรื่อออกไป แนวนโยบายแห่งรัฐ หน้าที่ของรัฐ บัญญัติยาวเลอะเทอะเอาเข้าจริงบังคับรัฐไม่ได้ หน้าที่ปวงชนชาวไทยก็บดบังสิทธิเสรีภาพ ระบบเลือกตั้งไม่ต้องจุกจิก เอาไว้เขียนในกฎหมาย คุณสมบัติข้อห้ามอย่าเยอะ ประชาชนตัดสินใจได้ อำนาจยุบพรรคตัดสิทธิทิ้งไป ใช้กฎหมายอาญาปกติ

ที่จริงมันควรจะง่ายมาก แต่นักกฎหมายรัฐประหารเขียนทับซ้อนจนรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ “ปราบโกง” แต่ตอนนี้นักการเมืองโกงก็ลอยหน้าลอยตาอาศัยกลไกรัฐธรรมนูญเข้าสู่อำนาจ

เรามีความหวังกับการแก้รัฐธรรมนูญแค่ไหน ไม่มากหรอก รัฐธรรมนูญแก้ยากหากไม่เกิดวิกฤตซึ่งหน้า นักกฎหมายสารพัดพิษวางยาไว้หลายชั้น ประชาชนทั่วไปมองไม่เห็นตามไม่ทัน ความแตกแยกของมวลชนเพื่อไทยก้าวไกลก็ทำให้พลังถดถอย

กระบวนการแก้รัฐธรรมนูญจึงเป็นการรณรงค์สร้างเวทีเรียนรู้ รอการแก้ไขจริงเมื่อเกิดวิกฤตอีกครั้ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน