จากเมืองอิซมีร์ เมืองใหญ่ริมชายฝั่งทะเลอีเจียน เมืองเอฟิซุส เมืองประวัติศาสตร์ทางใต้ของอิซมีร์ และเมืองคัปปาโดเกีย หนึ่งในเมืองท่องเที่ยวขึ้นชื่อและกิจกรรมลอยบอลลูนชมความงามของธรรมชาติที่ดึงผู้คนจากทั่วโลกแล้ว

ทีมผู้บริหารบริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือเคทีซี นำโดยนายระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเคทีซี และนางพิทยา วรปัญญาสกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส กลุ่มงานการตลาดและสื่อสารองค์กร ว่าที่ซีอีโอหญิงคนแรกของเคทีซี พาเดินทางมายัง “อิสตันบูล” มหานครสองทวีปของตุรกี

ทีมผู้บริหารเคทีซีและคณะทัวร์นครอิสตันบูล

เปิดทริปด้วยกิจกรรมล่องเรือเที่ยว “ช่องแคบบอสฟอรัส” ชมเส้นเขตแดนธรรมชาติที่แบ่งแผ่นดินตุรกีออกเป็น 2 ฝั่ง ยุโรป-เอเชีย เชื่อมระหว่างทะเลมาร์มารากับทะเลดำ แม้จะได้ชื่อว่าช่องแคบ แต่มีระยะห่างกว้างถึง 32 กิโลเมตร

อาจารย์ต้น คุณากร วาณิชย์วิรุฬห์ นักเขียนและนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ บอกเล่าเรื่องราวน่าสนใจว่าบอสฟอรัสเป็นคำในภาษาเทรเซียน ในยุคกรีกโบราณมีความหมายว่าทางผ่านแม่วัว ซึ่งตามตำนานเทพปกรณัมกรีก เล่าว่า ซุส มหาเทพ ลอบมีสัมพันธ์กับ ไอโอ หญิงงามนางหนึ่ง เมื่อเฮรา มเหสีของซุสรู้เรื่อง ซุสเลยเสกไอโอเป็นแม่วัวเพื่อให้รอดพ้นจากสายตาของเฮรา และให้หลบหนีด้วยการว่ายน้ำผ่านช่องแคบ แต่ไม่วายเฮราล่วงรู้และส่งแมลงดูดเลือดไปรังควานไอโอ จนจบชีวิตกลางทะเล ซึ่งกลายเป็นชื่อทะเลไอโอเนียน บริเวณตอนกลางของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

ขึ้นเรือจากท่าเรือแถวเอมิโนนู บนเรือมีชั้นดาดฟ้าเปิดโล่งรับลมเย็นๆ กับวิวตึกรามบ้านช่องของสองฝั่งริมทะเล และสะพานทั้ง 3 แห่ง ได้แก่ สะพานบอสฟอรัสหรือสานบอสฟอรัสที่ 1 สะพานฟาติห์ สุลต่าน เมห์เมต สะพานบอสฟอรัสที่ 2 และ สะพานยาวูซ สุลต่าน เซลิม หรือสะพานบอสฟอรัสที่ 3

ล่องเรือชมช่องแคบบอสฟอรัส

ยิ่งช่วงพระอาทิตย์ตกดินยิ่งสวย แสงสีส้มอมแดงย้อมขอบฟ้าสะท้อนกับผิวน้ำส่องประกายระยิบระยับและค่อยๆ เปลี่ยนผ่านเข้าสู่ช่วงค่ำคืนที่มีแสงไฟวิบวับชวนฝัน

หลังชาร์จแบตเตอรี่ให้ร่างกายกับคืนแรกในนครอิสตันบูล ก็ลุยกันต่อกับสถานที่ประวัติศาสตร์

ประตูทางเข้าพระราชวังโดลมาบาห์เช่

เริ่มจาก “พระราชวังโดลมาบาห์เช่” กับสถาปัตยกรรมร่วม ทั้งนีโอคลาสสิค ร็อกโคโค และบาร็อก สร้างโดยสุลต่านอับดุล เมซิต ที่ต้องการแสดงความยิ่งใหญ่ของตุรกีให้เป็นที่ประจักษ์ว่าไม่แพ้ชาติใดในยุโรป เลยทุ่มทุนกว่า 5 ล้านเหรียญทองออตโตมันลีรา หรือเทียบเท่า 54,450 ล้านบาทในปัจจุบัน

เริ่มสร้างในปีพ.ศ.2399 และใช้เวลานาน 13 ปีจึงแล้วเสร็จ ภายในมีทั้งหมด 285 ห้อง โถงใหญ่ 48 โถง ห้องน้ำ 68 ห้อง และห้องน้ำแบบเตอร์กิชอีก 6 ห้อง ตัวอาคารมีความยาว 600 เมตร ตั้งอยู่ริมฝั่งทะเลมาร์มาราบนฝั่งยุโรป

พระราชวังโดลมาบาห์เช่ริมชายฝั่งติดทะเล

พระราชวังโดลมาบาห์เช่เป็นที่ประทับของสุลต่าน 6 พระองค์จนถึงปีพ.ศ.2467 ที่เคมาล อตาเติร์ก นำกองทัพเข้าร่วมทำสงครามปลดปล่อยตุรกีและสถาปนาประเทศเป็นสาธารณรัฐตุรกี อตาเติร์กใช้ที่นี่เป็นที่พำนักและทำงานในฐานะประธานาธิบดี คนแรก โดยตกแต่งเรียบง่าย ต่างจากความหรูหราของพระราชวัง มีจุดชวนสังเกตด้วยคือนาฬิกาในโดลมาบาห์เช่ทุกเรือนจะตั้งเวลา 09.05 น. เพราะนั่นคือเวลาที่อตาเติร์กถึงแก่อสัญกรรมที่พระราชวังแห่งนี้เมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2481

ภายในพระราชวังตกแต่งด้วยภาพเขียนฝาผนัง ปูนปั้น ทั้ง ยังมีเครื่องแก้ว เฟอร์นิเจอร์ พรม และโคมไฟระย้าวิจิตรบรรจงมากมาย ไฮไลต์อยู่ที่โคมไฟแชนเดอเลียร์คริสตัลจากอังกฤษ ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ประดับดวงไฟ 750 ดวง และหนักถึง 5,000 กิโลกรัม

สถานที่นี้ไม่อนุญาตให้ ถ่ายรูป แต่ถ้าถามว่าที่นี่สวย แค่ไหนคงต้องบอกว่าทุกคน ที่เดินเข้ามา โดยเฉพาะห้องประดับแชนเดอเลียร์ใหญ่ จะมีเสียงอุทานว้าว… โว้ว… โอ้โห… ดังต่อเนื่อง

สุเหร่าสีน้ำเงินเลื่องชื่อจากมุมไกล

ออกเดินทางต่อไปยัง “สุเหร่าสีน้ำเงิน” เดิมเรียกว่าสุเหร่าสุลต่านอาเหม็ดที่ 1 เป็นหนึ่งในแลนด์มาร์กของนครอิสตันบูล มีความสูง 43 เมตร หมู่โดมหลังคาลดหลั่นวางระดับได้อย่างสวยงาม และมีมินาเรตหรือหอทำละหมาดเพิ่มเป็น 6 หอ ส่งผลให้ชาวมุสลิมในอาณาจักรอื่นๆ ไม่พอใจเพราะมองว่าสุลต่านออตโตมัน ทำหอมินาเรตเทียบชั้นมัสยิดใหญ่ใน นครเมกกะ จนสุลต่านต้องสร้างหอสวดแห่งที่ 7 เพื่อยุติกระแสเดือดดาล

ภายในสุเหร่าสีน้ำเงิน

ก่อนหน้านี้กระจกสีปิดช่องแสงส่วนฐานมัสยิดยังอยู่ ผู้คนจึงได้เห็นความสวยงามของกระเบื้องอิซนิกเฉดสีฟ้า ซึ่งเป็นที่มาของชื่อสุเหร่าสีน้ำเงิน น่าเสียดายที่ปัจจุบันถูกถอดออกไปแล้ว แต่ความประณีตภายในยังคงอยู่และคู่ควรแก่การมาเยือนให้เห็นด้วยตาตัวเองสักครั้ง

มหาวิหารฮาเยียโซเฟีย

สิ่งปลูกสร้างใหญ่โตที่ประจันหน้ากับสุเหร่าสีน้ำเงินคือ “มหาวิหารฮาเยียโซเฟีย” บางสมัยเรียกว่าเซนต์โซเฟีย เพราะอุทิศแด่โซเฟียหรือปัญญาแห่งพระเจ้าของชาวคริสต์ สร้างขึ้นตามบัญชาของจักรพรรดิจัสติเนียนแห่งจักรวรรดิไบแซนไทน์ แต่สถาปนิกผู้ออกแบบสร้างให้มีขนาดใหญ่กว่าวิหารศิลาปกติในยุคนั้น และเริ่มเปิดประตูต้อนรับผู้มีจิตศรัทธาในปีพ.ศ.1080 หรือเมื่อ 1,486 ปีก่อน

ความประณีตภายในสุเหร่าสีน้ำเงิน

ฮาเยียโซเฟีย ครองสถานะมหาวิหารหลวงแห่งจักรวรรดิไบแซนไทน์ร่วม 1,000 ปี กระทั่งปีพ.ศ.1996 กองทหาร ออตโตมันในยุคสุลต่านเมห์เหม็ดที่ 2 บุก “กรุงคอนสแตนติโนเปิล” ปล้นสะดมโบสถ์ พระราชวัง และร้านค้าทั่วเมือง แต่องค์สุลต่านสั่งห้ามทหารแตะต้องฮาเยียโซเฟีย ก่อนนำผู้คนเข้าทำพิธีละหมาดภายใต้โดมยักษ์และแปลงมหาวิหารคริสต์แห่งนี้ให้เป็นมัสยิดนับตั้งแต่นั้น

อลังการกับภาพเขียนภายในฮาเยียโซเฟีย

ด้านในมีภาพโมเสกเล่าเรื่องพระคริสต์ถูกฉาบปูนปิดทับ รูปเคารพ แท่นบูชาถูกรื้อถอนและเข้าแทนที่ด้วยมิห์รอบบอกทิศสู่นครเมกกะกับลวดลายอักษรอาหรับ

ในช่วงสถานปนาสาธารณรัฐตุรกี มีการค้นพบว่าภายใต้ผนังปูนที่ฉาบไว้ยังเหลือ ร่องรอยโมเสกยุคไบแซนไทน์ที่งดงาม โดยเฉพาะภาพจักรพรรดิคอนสแตนตินมหาราช ถวายนครคอนสแตนติโนเปิลแด่พระแม่มารีที่กำลังอุ้มพระเยซู อีกข้างเป็นจักรพรรดิจัสติเนียนถวายมหาวิหารฮาเยียโซเฟียแด่พระแม่มารี

อุโมงค์น้ำเยเรบาทัน

ส่งท้ายด้วย “อุโมงค์น้ำเยเรบาทัน” สร้างในสมัยจักรพรรดิ จัสติเนียนเพื่อสำรองน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งและยามศึก มีความยาวเกือบ 140 เมตร กว้าง 65 เมตร และจุน้ำได้ 90,000 ลูกบาศก์เมตร

หนึ่งในเสา 2 ต้นที่แกะสลักรูปหัว‘เมดูซา’

ภายในมีเสาหิน 336 ต้น แต่ละต้นสูง 9 เมตรและที่หัวเสาสลักแบบโครินเทียน ในจำนวนนี้มีเสาอยู่ 2 ต้นที่แกะสลักเป็นรูปหัว “เมดูซา” ชิ้นหนึ่งวางตะแคง อีกชิ้นกลับหัว คาดว่าที่วางกับทิศ กลับทางเพราะความเชื่อว่าถ้าใครมองตาเมดูซาจะกลายเป็นหิน

ตำหนักใน ‘พระราชวังทอปคาปึ’

ห้องประทับภายใน ‘พระราชวังทอปคาปึ’

จากใต้ดินเดินกลับขึ้นไปชมความงามของ “พระราชวังทอปคาปึ” ริมช่องแคบบอสฟอรัส เคยเป็นที่ประทับของสุลต่านแห่งจักรวรรดิออตโตมันหลายพระองค์ บนพื้นที่ราว 600,000 ตาราเมตร มีตำหนัก ท้องพระโรง ท้องพระคลัง สุเหร่า มัสยิด และฮาเร็ม

‘โกลเด้นฮอร์น’จากระเบียงพระราชวัง

ระเบียงพระราชวังมองเห็น “โกลเด้นฮอร์น” จุดบรรจบของสายน้ำในช่องแคบบอสฟอรัสกับวิวมุมกว้างสวยจับใจ

ถือเป็นการบอกลาดินแดนสองทวีปได้อย่างสมบูรณ์แบบ

ณอร อ่องกมล

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน