การก้าวขึ้นกุมบังเหียนหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ของ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน มิได้ราบรื่นหรือโรยด้วยกลีบกุหลาบ

แม้จะเป็นผู้กุมเสียงส่วนใหญ่ของ สส. 21 คนจากสส.ทั้งหมด 25 คน รวมถึงตัวแทนสาขาภาคต่างๆ ที่เป็นโหวตเตอร์

จากองค์ประชุม 260 คน ลงมติเลือกนายเฉลิมชัยเป็นหัวหน้าพรรค ด้วยคะแนน 88.5 เปอร์เซ็นต์ ถือว่านายเฉลิมชัยได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คนที่ 9 โดยไร้คู่แข่ง

แต่กว่าจะได้มติเห็นชอบ ก็ปรากฏแรงต้านจากภายในพรรค

เมื่อ นายสาธิต ปิตุเตชะ อดีตรองหัวหน้าพรรค ยกวาทกรรมของนายเฉลิมชัยที่เคยลั่นวาจาไว้ขึ้นมาตอกย้ำ

เคยประกาศไปแล้วว่า หากพรรคประชาธิปัตย์พ่ายแพ้เลือกตั้งได้ สส.ไม่ถึง 50 ที่นั่ง จะยุติบทบาทการเมืองถาวร

จึงเป็นเรื่องที่รับไม่ได้ เพราะสถานการณ์ของพรรคในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงด้านอุดมการณ์อย่างมาก ละทิ้งอุดมการณ์ บุคคลบางส่วนให้ความสำคัญพรรคพวกมากกว่าจุดยืน และอุดมการณ์ของพรรค

ที่สำคัญบุคคลที่จะนำพาพรรค ไม่รักษาคำพูดที่ให้ไว้กับประชาชน หากพรรคยังใช้ระบบพรรคพวกไม่มีทางประสบความสำเร็จทางการเมือง หลังมีบทเรียนมาแล้วในอดีต








Advertisement

ก่อนประกาศลาออกจากสมาชิกพรรคตามนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ประกาศลาออกสมาชิกพรรค อย่างไม่มีใครคาดคิด

หลังจากหารือกับนายเฉลิมชัยเป็นเวลา 10 นาที เสร็จสิ้นลง

ทิ้งปริศนา ชวนให้คิดถึงสาเหตุลึกๆ ของการลาออก เพราะเจ้าตัวยังยืนยันจะไม่มีทางไปพรรคอื่นใด

หากกรีดเลือดตนออกมาเป็นสีฟ้าแน่นอน หลังจากนี้วันข้างหน้า หากพรรคเห็นว่าตนมีประโยชน์ สามารถช่วยงานได้ ตนยินดีให้ความช่วยเหลือพรรคเสมอ

ขณะที่ หมอสุรันต์ จันทร์พิทักษ์ อดีตสส.กทม. ก็ไขก๊อกตามนายอภิสิทธิ์

ส่วน ‘มาดามเดียร์’ น.ส.วทันยา บุนนาค ก็ถูกที่ประชุมพรรคประชาธิปัตย์สกัด

ได้เสียงรับรองเพียง 139 คน ถือว่าเสียงไม่ถึง 3 ใน 4 นั่นคือต้องได้ 196 เสียง หมดสิทธิ์ฝ่าข้อบังคับพรรค ลงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค

ทำให้มาดามเดียร์น้ำตาคลอ เปิดใจด้วยความผิดหวังว่า มันทำให้เห็นแล้วว่าสิ่งที่เราหวังว่าจะทำให้ประชาชนกลับมาศรัทธาในพรรคประชาธิปัตย์อีกครั้งหนึ่ง

“วันนี้แสงแห่งความหวัง แสงแห่งความเปลี่ยนแปลงมัน ไม่เกิดขึ้น แล้วเราจะคาดหวังแสงแห่งศรัทธาจากประชาชนคืนมาได้อย่างไร”

ส่วนการตัดสินใจจะอยู่หรือจะไปจากพรรคนั้น ขอพิจารณาทบทวนก่อน

แม้จะเกิดปัญหา ‘เลือดไหลออก’

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ ได้ออกมายืนยันถึงคำมั่นสัญญา

กรรมการบริหารพรรคชุดนี้จะยึดมั่นในอุดมการณ์และหลักการของพรรค และประชาธิปัตย์จะไม่เป็นพรรคอะไหล่ให้กับพรรคไหน

“ผมจะทุ่มเททุกอย่าง ให้ประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้านที่สมบูรณ์ และเข้มแข็งที่สุด เชื่อมั่นว่าเรามีความเป็นเอกภาพ เราสามารถนำสิ่งที่สูญเสียกลับมาได้”

พร้อมขอเวลา 3 เดือน จะเห็นการเปลี่ยนแปลง

นายสุขุม นวลสกุล นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ให้ความเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในพรรคประชาธิปัตย์ว่า ชัดเจนว่าวันนี้เห็นการแตกหักระหว่างความคิดใหม่กับความคิดเก่า

พรรคประชาธิปัตย์ยุคนี้เป็นพรรคที่ตั้งขึ้นมาเพื่อหวังจะเข้าเป็นรัฐบาล ขณะที่ชุดเก่าพยายามดึงให้ไปสู่ยุคอุดมการณ์เดิม แต่ฝ่ายใหม่ได้อำนาจมากกว่า ก็จะเป็นผู้กำหนดทิศทางต่อไป

พรรคประชาธิปัตย์ภายใต้การนำของ นายเฉลิมชัยคาดว่าถ้ามีโอกาสมีจังหวะก็เตรียมตัวอยากเข้าร่วมรัฐบาล หากทาบทามเมื่อไหร่ก็คงพร้อมไปทันที

แต่ที่ผิดคาดคือ การที่นายอภิสิทธิ์ประกาศลาออกจากสมาชิกพรรค ทั้งที่มีความผูกพันมานาน แต่คงไม่ไปอยู่พรรคอื่นตามที่ได้บอกไว้

ส่วนอนาคตของพรรคประชาธิปัตย์ต่อจากนี้ เป็นไปได้ยากที่จะกลับมายิ่งใหญ่เหมือนเดิม ยิ่งเลือกตั้งที่ผ่านมา จากการบริหารของชุดนี้ที่ทำให้ได้ สส.เหลือเพียง 25 ที่นั่ง แล้วยังเลือกกลับมาเป็นผู้นำอีก คิดว่าต่อไปอาจจะได้ที่นั่งน้อยลงอีก

ส่วนกรณี มาดามเดียร์ มองว่าถือว่าได้แสดงความเป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ แม้จะไม่สำเร็จในการลงชิงชัยวันนี้ ก็ต้องติดตามว่าอนาคตในพรรคประชาธิปัตย์จะเป็นอย่างไร แต่เชื่อว่าถ้ายังอยู่ประชาธิปัตย์ก็อยู่ได้ เพราะมีจุดแข็งในพื้นที่ กทม. ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ไม่มีตรงนี้

ผศ.ดร.บูฆอรี ยีหมะ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ให้ความเห็นว่า หลังจากนี้ประเมินว่าพรรคประชาธิปัตย์ น่าจะกลายเป็นพรรคท้องถิ่น ที่ดูเหมือนว่าจะหวังแต่คะแนน สส.ในระบบเขต ขณะที่แบบบัญชีรายชื่อ ค่อนข้างยากแล้ว เพราะการเติบโตของแต่ละพรรค ไม่ได้มีเฉพาะปัจจัยภายในพรรคเท่านั้น แต่ยังมีปัจจัยภายนอก สภาพแวดล้อมความคิดทางการเมือง พฤติกรรมการเมืองว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ผ่านมาเขาคิดอย่างไร

การเลือกนายเฉลิมชัยเป็นหัวหน้าพรรค จึงเป็นการเลือกที่ไม่ปรับตัวตามสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้น ทำให้จะกลายเป็นพรรคท้องถิ่น กลายเป็นพรรคที่สัมพันธ์กับตัวบุคคลในพื้นที่ ที่แม้แต่ ภาคใต้เองก็ยังเหลือที่นั่ง สส.ไม่กี่จังหวัด แม้แต่สุราษฎร์ธานีก็ยังแพ้หลุดลุ่ย

ส่วนที่ 21 สส.ไปเทียบเชิญนายเฉลิมชัยมาเป็นหัวหน้าพรรค เพราะเชื่อว่าจะทำให้พรรคแตกน้อยลงนั้น ปรากฏชัดเจนแล้วว่าไม่ทันไรก็มีคนลาออกแล้ว และเชื่อว่าจะมีอีกหลายคนที่ลาออกตามมา ซึ่งพิสูจน์ได้แล้วว่า นายเฉลิมชัย จะรักษาไม่ให้พรรคแตก จริงเท็จแค่ไหน อดีต สส.หลายคนที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มสนับสนุนนายเฉลิมชัยก็อาจจะลาออกเพิ่ม

หากนายชวน หลีกภัย ลาออกตามไปนั้น น่าจะสร้างแรงกระเพื่อมมากกว่าเดิม และยิ่งผลักแฟนพันธุ์แท้ออกไปมากขึ้น

ถ้ามองที่ผ่านมาจะพบว่า ผู้บริหารประชาธิปัตย์มีการแบ่งฝ่ายกันชัดเจน หัวหน้าพรรค จะเป็นฝ่ายบุ๋น มีความเป็นผู้มีวิสัยทัศน์ มีวิชาการสามารถสื่อสารกับคนทั้งสังคมได้ ขณะที่เลขาธิการพรรคต้องเป็นฝ่ายบู๊ ถือกระเป๋าของพรรค สร้างความสามัคคีให้กับพรรค ประสานรอบทิศ ซึ่งนายเฉลิมชัย เปลี่ยนแปลงบทบาทจากฝ่ายบู๊มาเป็นฝ่ายบุ๋น เป็นการผิดฝาผิดตัว เพราะเฉลิมชัย เหมาะที่จะเป็นฝ่ายบู๊ การเปลี่ยนมาเป็นหัวหน้าพรรคจึงยากจะเรียกคะแนนนิยม

แต่การเป็นหัวหน้าพรรคที่เป็นฝ่ายบู๊ทำให้ถูกมองเป็นพรรคใจถึงพึ่งได้ ถูกตีความในความหมายในแง่นักเลง มองว่าจะ ส่งผลกระทบส่งต่อพรรคทั้งในปัจจุบันและอนาคตข้างหน้า

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน