เป็นอีกครั้งที่นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน แสดงความไม่สบายใจ ถึงขั้น “ยอมรับไม่ได้” ต่อผลประชุมคณะกรรมการไตรภาคี ที่สรุปตัวเลขค่าจ้างขั้นต่ำปี 67

และมีมติให้ปรับขึ้นในอัตราตั้งแต่วันละ 2-16 บาท ซึ่งเป็นอัตราเฉลี่ยร้อยละ 2.37 สูงสุด จ.ภูเก็ต วันละ 370 บาท ต่ำสุด จ.นราธิวาส ปัตตานีและยะลา วันละ 330 บาท

“ต้องขึ้นไปสูงกว่านี้ โดยจะต้องฟังเหตุผลของเขาเหมือนกัน อย่างที่บอก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้น 2-3 บาท ซื้อไข่ 1 ฟองยังไม่ได้” นายกฯ เศรษฐายกตัวอย่างเปรียบเทียบให้เห็นภาพ

แต่เดิมมติคณะไตรภาคีเตรียมเสนอ ครม.พิจารณาเห็นชอบวันที่ 12 ธ.ค.นี้ เพื่อให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2567 เป็นของขวัญปีใหม่

แต่พอนายกฯ เศรษฐาออกโรงเอง ขอให้มีการทบทวนใหม่ เพราะปัจจุบันนายจ้างได้ประโยชน์จากการลดค่าไฟ ค่าน้ำมัน และอีกหลายอย่างตามมาตรการของรัฐบาล

“วันนี้เราจะไม่ยอมให้แรงงานประชาชนคนไทยมีค่าแรงต่ำติดดินแบบนี้” นายกฯ กล่าวสรุป

ก็ต้องรอดูสุดท้ายปลายทาง ค่าจ้างขั้นต่ำปีแรกของรัฐบาลเศรษฐา จะไปจบที่ตัวเลขเท่าไหร่

เมื่อเร็วๆ ที่นายกฯ เศรษฐาพูดว่า “ยอมรับไม่ได้” คือการที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติปรับขึ้นค่าไฟฟ้างวดม.ค.-เม.ย.67 จากปัจจุบัน 3.99 บาทต่อหน่วย เป็น 4.68 บาท โดยมาจากค่าไฟฟ้าผันแปร หรือค่าเอฟที ที่ปรับขึ้นเป็น 89.55 สตางค์ต่อหน่วย








Advertisement

นายกฯ ขอให้กลับไปพิจารณาใหม่ พยายามกดให้ได้ 4.10 บาท

แล้วก็เป็นนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกฯ และรมว.พลังงาน ที่ออกมารับลูกนายกฯ เบรกค่าไฟไม่ให้ไปถึง 4.68 บาทต่อหน่วย เพราะถึงมติ กกพ. จะว่าอย่างนั้น แต่ทั้งหมดอยู่ที่รัฐบาล

“ค่าไฟฟ้าคงไม่ขึ้นไปสูงขนาดนั้น” รมว.พลังงาน ยืนยัน

ล่าสุด รายงานข่าวแจ้งว่า สำนักงบประมาณจะจัดสรรงบกลาง ประมาณ 2,000-3,000 ล้านบาท เข้าดูแลกลุ่มเปราะบาง 18.36 ล้านครัวเรือน ซึ่งใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน เพื่อตรึงค่าไฟไว้ที่ราคาเดิม 3.99 บาท

ส่วนที่นายกฯ อยากกดให้ได้ 4.10 บาทต่อหน่วย มีความเป็นไปได้ แต่ถ้าไม่ได้ 4.10 บาท ก็จะพยายามกดลงให้ได้ราคาใกล้เคียงที่สุด

สรุปคือทั้งค่าแรง ค่าไฟ เป็นเรื่องที่ประชาชนเฝ้าติดตามเพราะเกี่ยวกับปากท้องโดยตรง คาดว่าภายในสัปดาห์นี้จะมีความชัดเจนมากขึ้น

ส่วนนายกฯ เศรษฐาจะยอมรับได้หรือไม่ ก็ต้องรอดูเช่นกัน

มันฯ มือเสือ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน