บทสรุปอันมาจากพรรคเพื่อไทยต่อปม “สภาล่ม” สร้างความฉงน ก่อเกิดความสับสน

ไม่ว่าจะมาจาก นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด แห่งนครราชสีมา ไม่ว่าจะมาจาก น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ จากลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร

1 ให้น้ำหนักไปยัง “ญัตติ” 1 โยนความรับผิดชอบไปยัง “ก้าวไกล”

หากขุดเอากระบวนการในทางความคิดเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 มาเทียบเคียงกับกระบวนการในทางความคิดเดือนธันวาคม 2566

ก็จะสัมผัสใน “ความต่าง” อย่างชนิดเหลือเชื่อ

ต้องยอมรับว่าบทบาทของพรรคเพื่อไทยเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 คือฝ่ายค้าน

เป้าหมายของพรรคเพื่อไทย คือ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อันประกอบส่วนขึ้นจากพรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์

สส.ในปีกรัฐบาลจึงถูกจับตามองอย่างเป็นพิเศษ

เหตุผลของพรรคเพื่อไทยในการฟันธงถึงสถานการณ์ “สภาล่ม” จึงโยนไปที่ความรับผิดชอบของรัฐบาลต่อจำนวนของ สส.ในสภา

เมื่อไม่ถึง 250 เท่ากับก่อให้เกิด “สภาล่ม”

ไม่ว่ารัฐบาลพรรคพลังประชารัฐ ไม่ว่ารัฐบาลพรรคเพื่อไทย ต้องกุมเสียงข้างมาก

ความเป็นจริงของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคพลังประชารัฐ ในเดือนธันวาคม 2566 คืออะไร

คือรัฐบาลที่กุมเสียงข้างมาก 310 กว่าเสียงอยู่ในมือ

ความไม่สามารถทำให้ “องค์ประชุม” ของสภาผู้แทนราษฎรมีความสมบูรณ์จึงเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลไม่ใช่ 150 เสียงของพรรคก้าวไกล

นี่คือความเป็นจริง นี่คือหลักการ

ยิ่งพรรคเพื่อไทยออกโรงโต้แย้งในเรื่อง “ความรับผิดชอบ” ก็จะยิ่งขว้างงูไม่พ้นคอ

อย่างน้อยแต่ละถ้อยคำอันคนของพรรคเพื่อไทยเคยพูด เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 ก็ต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับข้ออ้างในเดือนธันวาคม 2566

ศัตรูของพรรคเพื่อไทยจึงคือ “ดิจิทัล ฟุตพรินต์” ไม่ใช่พรรคก้าวไกล

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน