“วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์” แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพฯ เดิมชื่อ วัดสลัก สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ปรากฏศิลาจารึกใต้ฐาน “พระพุทธรูปหิน” พระประธานในอุโบสถวัดสลัก โดยอักษรที่จารึกนั้น เป็นอักษรในสมัยสมเด็จ พระนารายณ์มหาราช พระมหากษัตริย์ องค์ที่ 27 แห่งกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ.2228)

วัดสลัก กาลต่อมาได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระอารามหลวง โดยสมเด็จ พระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล พระอนุชาธิราชในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (พ.ศ.2326)

วัดสลัก เปลี่ยนชื่อเป็น “วัดนิพพานาราม” “วัดพระศรีสรรเพชญ์” และ “วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร” พระอารามแห่งนี้ เป็นที่สถิตของสมเด็จพระสังฆราช จำนวน 5 พระองค์ ในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นสถานที่ทำสังคายนาพระไตรปิฎก

มีการก่อตั้งวิทยาลัยสงฆ์แห่งคณะสงฆ์ไทยแห่งแรกขึ้นจากมหาธาตุวิทยาลัย สู่ความเป็นมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในปัจจุบัน

นับตั้งแต่ พ.ศ.2228-2566 วัดมหาธาตุ ยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร มีอายุครบ 338 ปี

เพื่อรำลึกถึงคุณูปการ คุณงามความดีที่บูรพมหากษัตริย์และบูรพาจารย์ผู้ได้สร้างวัดมหาธาตุ คณะสงฆ์วัดมหาธาตุยุวราช รังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร ทายกทายิกา และคณะศิษยานุศิษย์ มีความเห็นตรงกัน จึงพร้อมใจกันจัดให้มีการสมโภช พระอารามขึ้น ในระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม 2566-2 มกราคม 2567 เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในโอกาสเจริญพระชนมพรรษา ครบ 72 พรรษา พ.ศ.2567








Advertisement

ในโอกาสมหามงคล วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ครบ 338 ปี ยังได้จัดสร้างวัตถุมงคล พระสมเด็จอรหัง รุ่นครอบจักรวาล

โดย พระพรหมวชิราธิบดี (พีร์ สุชาโต) อธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ เป็นประธานในพิธีพุทธาภิเษก “พระสมเด็จอรหัง” ซึ่งเป็นพระเครื่องต้นแบบพระสมเด็จของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) วัดระฆังโฆสิตาราม ถูกจัดสร้างขึ้นโดยสมเด็จพระสังฆราชเจ้า (สุก ไก่เถื่อน) พระอาจารย์ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาของท่านสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า (สุก ไก่เถื่อน) เป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 4 ในราชวงศ์จักรี และเป็นพระบรมราชาจารย์ของรัชกาลที่ 2, 3 และ 4 ด้วย

เป็นชาวกรุงเก่าชื่อ สุก ประสูติเมื่อวันศุกร์ เดือน 2 ขึ้น 10 ค่ำ ปีฉลู จุลศักราช 1095 หรือ พ.ศ.2276 ซึ่งตรงกับสมัยอยุธยา ในรัชกาลของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ จากพงศาวดารระบุชัดว่า ท่านได้เป็นเจ้าอาวาสอยู่ที่วัดท่าหอย เมื่อสมัยกรุงธนบุรี

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โปรดให้อาราธนาลงมาอยู่ที่วัดราชสิทธาราม ระหว่างอยู่จำพรรษาที่วัดราชสิทธาราม ปรากฏว่าได้เป็นที่นับถือของชาวบ้านไปถึงเจ้านายเชื้อพระวงศ์ ต่างก็พากันไปฝากตัวเป็นศิษย์เป็นจำนวนมาก เพราะต่างได้เห็นความเข้มขลังด้านเมตตาพรหมวิหาร สามารถเรียกไก่เถื่อนจากป่ามารับการโปรยทานได้ทุกวัน อันเป็นที่มาของพระสังฆราชไก่เถื่อนนั่นเอง

การสร้างพระสมเด็จอรหัง วัดมหาธาตุ เริ่มสร้างตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ.2360 สมัยที่ยังเป็นพระราชาคณะอยู่ที่วัดพลับ โดยเป็นที่เข้าใจว่าพิมพ์แรกหรือพิมพ์ปฐมฤกษ์ คือ พิมพ์เกศเปลวเพลิง ต่อมาเมื่อได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชและย้ายมาอยู่ที่วัดมหาธาตุแล้ว ท่านได้นำพระสมเด็จอรหังมาบรรจุไว้ในเจดีย์ที่วัดมหาธาตุ

เนื้อมวลสารที่ใช้ในการสร้างพระสมเด็จอรหัง ใช้มวลสารเดียวกับพระสมเด็จวัดระฆังฯ คือ ใช้ปูนเปลือกหอยเป็นมวลสารหลัก ส่วนผสมอื่นๆ คล้ายคลึงกัน เช่น เศษอาหารที่ฉัน วัสดุบูชา และผงอิทธิเจ ผิดกันตรงสัดส่วนที่นำมาผสมกันเท่านั้น

องค์สมเด็จอรหัง มี 2 สี คือ เนื้อขาวและเนื้อแดง สันนิษฐานว่าอาจจะมีการผสมปูนกินหมากหรือพิมเสนเข้าไป เมื่อผสมกับปูนเปลือกหอยทำให้เนื้อมวลสารกลายเป็นสีแดง พิมพ์ทรงเป็นรูปสี่เหลี่ยมชิ้นฟัก องค์พระประธานประทับนั่ง แสดงปางสมาธิ บนฐาน 3 ชั้น และมีซุ้มครอบแก้วเช่นเดียวกับพระสมเด็จวัดระฆัง โฆสิตาราม ด้านพุทธคุณมีความเด่น ทางเมตตามหานิยม และแคล้วคลาดเหมือนเช่นพระสมเด็จวัดระฆังฯ ทุกอย่าง

ถือเป็นของดีที่มีมนต์ขลังและความศักดิ์สิทธิ์แห่งสำนักวัดมหาธาตุยุวราช รังสฤษฎิ์

ผู้มีจิตศรัทธาประสงค์ร่วมบุญ ติดต่อบูชาได้ที่วัดมหาธาตุฯ สำนักงานคณะ กรรมการสมโภชฯ ตึกมหาธาตุวิทยาลัย ชั้น 2 โทร.06-3213-5083, 06-3213-3960 และสั่งจองได้ที่ 08-2642-3393 อ.จตุรงค์ จงอาษา และไปรษณีย์ไทยทุกสาขาทั่วไทย ในราคาเช่าบูชาองค์ละ 339 บาท

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน