คณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 ประกอบไปด้วยภาครัฐ ฝ่ายนายจ้าง และลูกจ้าง ประชุมทบทวนการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ หลังนายกรัฐมนตรีแสดงความห่วงใยผลประชุมครั้งก่อนที่ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำน้อยเกินไป

ผลปรากฏว่าที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ยึดตามมติที่ประชุมเดิมเมื่อวันที่ 8 ธ.ค.2566 ที่ให้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในอัตราเพิ่มขึ้น 2-16 บาท ลดหลั่นกันไปตามรายจังหวัดทั่วประเทศ

นอกจากนี้ คณะกรรมการค่าจ้างยังเห็นชอบ ข้อสังเกตจาก รมว.แรงงาน โดยให้ปรับสูตร การคำนวณค่าแรงขั้นต่ำใหม่ ไม่ใช่ขึ้นรายจังหวัด แต่ให้ลงรายละเอียดมากขึ้น ด้วยการพิจารณาขึ้นเป็นรายอำเภอ รายเทศบาล และรายอาชีพ เป็นต้น

โดยอาจเริ่มใช้ในปี 2567 พร้อมกับปรับขึ้นค่าแรง 2 ครั้ง

สําหรับมติเดิมขึ้นค่าแรงขั้นต่ำตามที่คณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 เห็นชอบไปแล้วในอัตรา 2-16 บาทนั้น ที่น่าสนใจคือ จ.ภูเก็ต ได้ขึ้นมากที่สุด 16 บาท จากเดิม 354 บาท เป็น 370 บาท

เนื่องจากเป็นจังหวัดพิเศษ มีภาคเกษตรกรรมน้อยมาก แต่มีแหล่งท่องเที่ยวมากที่สุด อัตราการจ้างงานสูง บางธุรกิจมีการจ้างในอัตรามากกว่า 400 บาทต่อวัน

รองลงมาคือ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร ได้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 10 บาท จากเดิมวันละ 353 บาท เป็น 363 บาท

ขณะที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นราธิวาส ปัตตานี และยะลา ได้ขึ้นน้อยสุด 2 บาท จากเดิม 328 เป็น 330 บาท

จากมติดังกล่าว นายกฯ แสดงท่าทีไม่สบายใจ และขอให้ทบทวนใหม่ โดยเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ได้ขึ้นเพียง 2 บาท นายกฯ ถึงกับระบุว่าซื้อไข่ลูกหนึ่งยังไม่ได้

แต่ในที่สุดคณะกรรมการค่าจ้างยังยืนยันมติที่ประชุมเดิม ดังนั้น จะต้องติดตามดูต่อไปว่า นายกฯ จะดำเนินการอย่างไรต่อไปต่อเรื่องนี้ เพราะที่ผ่านมารัฐบาลเคยประกาศจะพยายามปรับขึ้นให้ถึง 400 บาท เพื่อจะทะยานไปสู่ 600 บาทในปี 2570 ตามเป้าหมายนโยบาย

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายลูกจ้างในคณะกรรมการค่าจ้าง ขณะนี้ยังเห็นพ้องกับมติเดิม แต่ก็คาดหวังว่าเมื่อใกล้ถึงวันแรงงานแห่งชาติ 1 พ.ค.2567 อาจจะพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างช่วงกลางปี

รวมถึงการปรับสูตรคำนวณใหม่ที่ลงรายละเอียดมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจของแต่ละพื้นที่ และรายอาชีพต่างๆ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน