บทเพลง “เพียงเธอ” พัฒนาเติบใหญ่พร้อมกับชัยชนะของ #สมรสเท่าเทียม

แรกทีเดียวอาจได้ยินพร้อมกับการเปิดตัวคลิปวิดีโอ “คืนสิทธิ์ คืนศักดิ์ศรี ให้เราเท่ากัน” อันเสนอมาตั้งแต่ในยุคก่อนเลือกตั้งเดือนพฤษภาคม 2566

ในห้วงที่ “เพื่อไทย” กับ “ก้าวไกล” ร่วมกันเป็น “ฝ่ายค้าน”

ปรากฏเสียงเพลงที่ยังไม่มีชื่อร้องประสานและขานรับกันโดยนักร้อง 2 คน คนหนึ่งรู้ว่าเป็น สุกัญญา มิเกล แต่อีกคนหน้าใหม่ เสียงใหม่

จากนั้นบทเพลงก็ค่อยซึมสร้านในกระแส #สมรสเท่าเทียม

ในระหว่างการพิจารณาร่างกฎหมาย “สมรสเท่าเทียม” บทเพลงก็สำแดงตัวตนออกมา

เป็นการปรากฏผ่านสื่อ “โซเชี่ยลมีเดีย” ระบุชื่อเพลงว่าเป็น “เพียงเธอ” และระบุชื่อนักร้อง 2 คน คนหนึ่งเป็น สุกัญญา มิเกล อย่างเด่นชัด

อีกคนชื่อ ZWEED N ROLL

อย่าได้แปลกใจที่ “เพียงเธอ” สร้างความประทับใจเป็นอย่างสูงให้กับ นายปิยบุตร แสงกนกกุล และ น.ส.พรรณิการ์ วานิช

รายหลังยอมรับว่าฟังซ้ำไม่ต่ำกว่า 10 รอบ

ไม่ว่า “คืนสิทธิ์ คืนศักดิ์ศรี ให้เราเท่ากัน” ไม่ว่า “เพียงเธอ” สัมพันธ์กับ “วัฒนธรรม”

เป็น “วัฒนธรรม” ความเชื่อ เป็นเงาสะท้อนในทาง “ความคิด” แนบแน่นอยู่กับการเคลื่อนไหวในทางความคิดและในทาง “การเมือง”

การอุทิศแด่ #สมรสเท่าเทียม จึงถูกต้องอย่างยิ่ง

เมื่อติดตามผ่านคลิปวิดีโอ “คืนสิทธิ์ คืนศักดิ์ศรี ให้เราเท่ากัน” ประสานเข้ากับแต่ละถ้อยคำอันเกิดและดำรงอยู่ใน “เพียงเธอ”

อยากจะขอบคุณที่รู้ใจ เข้าใจ สิ่งดีๆ ที่ให้มา

พลานุภาพอันเนื่องแต่ “คืนสิทธิ์ คืนศักดิ์ศรี” พลานุภาพอันเนื่องแต่ “เพียงเธอ”

มิได้ดำรงอยู่เฉพาะแต่ “เธอ” อย่างแน่นอน แม้จะเป็นการ “ร้องเพลงที่ใครไม่อาจฟัง” แต่ก็เป็นการ “ร้องเพลงให้ฟัง เข้าใจเพียงเรา”

ดำรงอยู่อย่างเป็น “อำนาจ” ในความไพเราะ งดงาม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน