ชวนรู้จักรัฐทวารวดี

ในช่วงราวพุทธศตวรรษที่ 12-16 รัฐชื่อ “ทวารวดี” ได้ถือกำเนิดขึ้นจากอิทธิพลอินเดียที่เข้ามาอย่างต่อเนื่องในบริเวณภาคกลางของอาณาเขตประเทศไทยปัจจุบัน อาณาจักรแห่งนี้เป็นอาณาจักรที่มีระบอบกษัตริย์ชัดเจน แต่เนื่องจากมีประวัติศาสตร์ที่คลุมเครือ จึงทำให้ในปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัดว่าทวารวดีมีกษัตริย์กี่องค์ กี่ราชวงศ์ หรืออาณาจักรแห่งนี้ยิ่งใหญ่เพียงใด แผ่อำนาจไปได้กว้างขวางถึงเขตแดนไหน

ทางด้านวัฒนธรรม อาณาจักรทวารวดีมีความแตกต่างที่โดดเด่นจากอาณาจักรอื่นๆ คือ ในบรรดาอาณาจักรที่ตั้งอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีป พระพุทธศาสนาเถรวาทเป็นที่นิยมในอาณาจักรทวารวดีมากที่สุด ซึ่งการเลื่อมใสศรัทธาในพระธรรมของพระพุทธศาสนาได้ส่งผลให้ผู้คนในอาณาจักรทวารวดีนับถือพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้า และยังผลให้เกิดการใช้ศิลปกรรมเพื่อสักการบูชาพระพุทธเจ้าเป็นจำนวนมาก

ชวนรู้จัก“สถูป”และ“ปราสาท”สถาปัตยกรรมทวารวดี

หนังสือ “ปราสาทในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ศาสตราจารย์ ดร.เชษฐ์ ติงสัญชลี ได้เขียนไว้ว่า “สถูป” และ “ปราสาท” เป็นสถาปัตยกรรมที่พบได้มากในอาณาจักรทวารวดี

สถูปเป็นตัวแทนของเนินดินฝังศพในผังกลม มีส่วนสำคัญคือเนินดินที่ผ่านเข้าไปไม่ได้

ส่วนปราสาทคือบ้านของเทพเจ้า มีลักษณะเป็นตัวอาคารที่มีห้องสี่เหลี่ยม และมีชั้นซ้อนด้านบนหลายชั้นซึ่งอาจเป็นชั้นจริงหรือชั้นจำลองก็ได้ อีกทั้งยังสามารถเดินผ่านเข้าไปได้








Advertisement

คาดการณ์กันว่ารูปแบบของสถูปที่เป็นที่นิยมในยุคแรกของอาณาจักรทวารวดีคือ สถูปแบบอัณฑะทรงโอคว่ำขนาดใหญ่ แต่ในเวลาต่อมาได้เปลี่ยนมานิยมสร้างสถูปทรงปราสาทแบบใหม่แทน สถูปรูปแบบใหม่นี้สร้างสรรค์ขึ้นด้วยการนำเอาปราสาทอันประกอบด้วยเรือนธาตุในผังสี่เหลี่ยมมาออกแบบให้เป็นอาคารทึบพระบรมธาตุแทน การออกแบบสถูปดังกล่าวทำให้เกิดความพร่าเลือนของเส้นแบ่งแยกระหว่างปราสาทกับสถูปอันเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญของศิลปะทวารวดี

จุดเด่นอีกประการของปราสาทในสมัยทวารวดีคือ ในขณะที่ศิลปะสกุลอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นิยมปราสาทที่มีสัดส่วนแคบ ศิลปะทวารวดีกลับนิยมปราสาทที่มีสัดส่วนอาคารกว้างและแผ่ออกทางด้านข้าง ทั้งนี้เป็นเพราะศิลปะตระกูลอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นิยมสร้างปราสาทให้มีห้องครรภคฤหะที่สามารถเข้าไปภายในได้ ซึ่งห้องครรภคฤหะนี้ไม่สามารถสร้างให้กว้างได้ เนื่องจากมีเพียงผนังห้องที่ทำหน้าที่รับน้ำหนักของหลังคาที่ก่อเหลื่อมขึ้นไป หากสร้างให้กว้างเกินไปก็สุ่มเสี่ยงที่จะพังทลายได้

ด้วยรูปแบบปราสาทที่เป็นที่นิยมในอาณาจักรทวารวดีเป็นปราสาททึบ และไม่มีห้องครรถคฤหะด้านใน ช่างผู้ออกแบบจึงสามารถสร้างผนังเรือนธาตุให้มีสัดส่วนกว้างกว่าศิลปะอื่นๆ ได้ ซึ่งความกว้างนี้ยังได้ส่งผลให้สามารถใส่รายละเอียดของการยกเก็จได้มากกว่าศิลปะสกุลอื่นๆ ด้วย

เทคนิคงานหล่อสำริดสมัยทวารวดี

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สันติ เล็กสุขุม ได้เขียนในหนังสือ “โบราณกาลปัจจุบัน” ไว้ว่าช่างโบราณคงเริ่มต้นจากการปั้นหุ่นแกนดินผสมทรายให้เป็นประติมากรรมที่ต้องการซึ่งส่วนใหญ่คือพระพุทธรูป จากนั้นพอกด้วยแผ่นขี้ผึ้งที่ตีและแผ่ให้มีความบางเท่าๆ กัน แล้วนำไปพอกแนบกับแกนทรายที่ได้เป็นหุ่นขี้ผึ้ง เสร็จแล้วก็แต่งให้งามตามต้องการแล้วจึงทาทับด้วยน้ำดินละเอียดเพื่อให้จับผิวขี้ผึ้งสำหรับเป็นฉนวน (มีฉนวนเพื่อรอรับการพอกหุ้มด้วยดินผสมทราย เสริมแม่พิมพ์ให้แข็งแรงยิ่งขึ้น) ทั้งหมดนี้เป็นเพียงกระบวนการโดยย่อ หากแม่พิมพ์ที่ใช้มีขนาดใหญ่กระบวนการต่างๆ ก็จะต้องเพิ่มมากขึ้นและละเอียดลออขึ้น

หลังจากที่ผ่านกระบวนการสุมไฟให้แม่พิมพ์ร้อนจนขี้ผึ้งหลอมละลายไหลออกจากหุ่นจนหมดจะต้องเทน้ำโลหะเดือด (เรียกว่า น้ำทอง) ผ่านรูที่เจาะไว้เข้าไปแทนที่หุ่นขี้ผึ้ง (กรรมวิธีนี้เรียกว่า สูญขี้ผึ้ง) แต่หากขี้ผึ้งละลายไม่หมดก็จะอุดหรือขวางทางไหลของน้ำทอง รูปหล่อที่ได้ก็จะชำรุดเสียหาย หรือหากขั้นตอนทำแม่พิมพ์หรือการเทน้ำโลหะที่เดือดปุดมีจุดขัดข้อง หลังการหล่อพระพุทธรูปก็จะเสียหายเช่นกัน

จะเห็นได้ว่าช่างโบราณในสมัยทวารวดีต้องใช้ความประณีตบรรจงเป็นอย่างมากในการสร้างงานหล่อสำริดชิ้นหนึ่ง ผลงานที่ออกมาจึงไม่เพียงแต่มีคุณค่าในทางด้านประวัติศาสตร์ แต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจของช่างผู้สร้างสรรค์ผลงานด้วย

นักอ่านที่สนใจสั่งซื้อหนังสือ “โบราณกาล ปัจจุบัน” โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สันติ เล็กสุขุม

จับจองได้ที่ https://bit.ly/3uLrW2B

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน