คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

การดำรงคงอยู่ของมาตรา 77 หมวด 6 แนวนโยบายแห่งรัฐ ภายในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 จะมีผลสะเทือนอย่างยิ่ง

1 ไม่เพียงแต่ต่อ “คสช.” หากแต่ 1 ยังต่อ “กรธ.” และ 1 “สนช.”

เพราะไม่เพียงแต่บัญญัติว่า “ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับรัฐพึงให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ”

หากแต่ยังมีบัญญัติเอาไว้ด้วยว่า

“รัฐพึงจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็น และยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพโดยไม่ชักช้า เพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน”

ชัดเจน แจ่มแจ้ง กระจ่าง

หากศึกษาจากการประกาศคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 14/2560 ซึ่งเป็นไปตามอำนาจของ “มาตรา 44” อันกระทบถึงการโดยสารรถกระบะอย่างถ้วนถี่








Advertisement

จะยิ่งก่อให้เกิด “คำถาม” ตามมามากมาย

คำถาม 1 ก็คือ ก่อนออกมาเป็นคำสั่งโดยหัวหน้าคสช.ลงนามได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง และวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบหรือไม่

ข้อน่าสงสัยก็คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ยืนยันว่าเป็นความคิดของตน

แสดงให้เห็นว่า การตราออกมาเป็นคำสั่งหัวหน้าคสช.มีแต่เพียงหัวหน้าคสช.กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เท่านั้นที่ดำเนินการ

เคยมีการนำเรื่องนี้มาวิเคราะห์อย่างรอบด้านและเป็นระบบหรือไม่

ขณะเดียวกัน ยิ่งทอดตามองไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติอันดำรงอยู่ในฐานะเป็น “ตัวแทนปวงชน” ยิ่งทำให้สงสัยในบทบาท

ถามว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติอันอยู่ในอำนาจนิติบัญญัติมีบทบาทและเข้าไปเกี่ยวข้องในเรื่องอันเกี่ยวกับคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 14/2560 อย่างไร

แน่นอนก่อนประกาศออกมาก็ไม่มี “บทบาท”

ยิ่งกว่านั้น เมื่อความเดือดร้อนแผ่กระจายจนอาจเรียกได้ว่า “ทุกหย่อมย่าน” สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ทำตนให้อยู่ในสถานะแห่ง “ตัวแทนปวงชน” ได้มากน้อยเพียงใด

มีการตั้ง “กระทู้” หรือเสนอ “ญัตติ” เพื่ออภิปรายหาทางออกหรือไม่

นับแต่ก่อกำเนิดขึ้นมาภายหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ก็น่าสงสัยว่าสภาแห่งนี้เป็น “ตัวแทน” ปวงชน

หรือว่าเป็น “ตัวแทน” แห่งอำนาจรัฐ “รัฐประหาร” กันแน่

นับแต่วันที่ 6 เมษายนซึ่งรัฐธรรมนูญประกาศและบังคับใช้ ความสนใจต่อ “การเมือง” จึงมีความเข้มข้น

เป็นความสนใจต่อบทบาทของ “คสช.” เป็นความสนใจต่อบทบาทของ “สนช.” และเป็นความสนใจต่อบทบาทของ “กรธ.” ซึ่งจะทำหน้าที่ในการผลักดัน “กฎหมาย”

มีความตระหนักต่อบทบัญญัติแห่ง “มาตรา 77” มากน้อยเพียงใด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน