จังหวะ เวลา

สถานการณ์ ฉุกเฉิน

อารมณ์ สังคม

คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

จังหวะ เวลาการยืดอายุสถานการณ์ฉุกเฉินเป็น “จุดตัด” สำคัญในทางการเมือง

เป็น “จุดตัด” อันสะท้อนความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญระหว่างการประกาศและบังคับใช้สถาน การณ์ฉุกเฉินในห้วงปลายเดือนมีนาคม

เพียง 1 เดือนก็สัมผัสได้ในความไม่เหมือนเดิม

ไม่ว่าจะเป็นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส ไม่ว่าจะเป็นจากความพยายามยืดและขยายอายุของสถานการณ์ “ฉุกเฉิน” ออกไป

แม้จะเป็นประกาศจากรัฐบาล “เดิม”

การประกาศครั้งแรกได้รับการยอมรับ ได้รับความเห็นชอบ

ทุกฝ่ายยอมจำนน ณ เบื้องหน้าการคุกคามของไวรัส ทุกฝ่ายแทบไม่มี “ความรู้” อะไรอยู่ในมือจึงให้ความไว้วางใจอย่างเต็มเปี่ยม

ไม่ว่าจะมีมาตรการ “เข้ม” เพียงใด ก็ยอมรับ

แต่เมื่อการปฏิบัติผ่านไปอย่างน้อย 1 เดือน ทุกฝ่ายล้วนมีประสบการณ์ในลักษณะ “ร่วม” ประจักษ์ในผลงานความสามารถ และรับรู้ถึงผลสะเทือน ข้างเคียง

ท่าทีที่แปลกไปจึงกลายเป็นอีกปรากฏการณ์หนึ่ง

จากปัญหาทางด้าน “ไวรัส” กำลังกลายเป็นปัญหาในทาง “เศรษฐกิจ”

เด่นชัดอย่างยิ่งว่าผลสะเทือนจากการปิดเมืองนำไปสู่การตกงานโดยอัตโนมัติ มิได้เป็นจำนวนหมื่นจำนวนแสน หากแต่เป็นจำนวน “เรือนล้าน”

ความเดือดร้อนจึงดำเนินไปในลักษณะแผ่กระจาย

เป็นการแผ่กระจายอันสะท้อนผ่านการปรากฏขึ้นของคนยากคนจน สภาวะไม่มีงาน สภาวะ ไม่มีเงิน ดำเนินไปในลักษณะอันเรียกได้ว่าทุกหย่อมย่าน บ้านเมือง

นี่คือความหงุดหงิด นี่คือความไม่พอใจ สะสม

แม้จะมีความพยายามผ่อนคลาย แต่ก็ขาดความไว้เนื้อเชื่อใจ

ไม่เพียงแต่รัฐบาลจะแสดงถึงความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจประชาชน หากแต่ในหมู่ของประชาชนเองก็เริ่มไม่ไว้เนื้อเชื่อใจต่อรัฐบาล

ความหวาดระแวงจึงแผ่กระจายไปอย่าง กว้างขวาง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน