คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

พลันที่มีคำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 30/2560 ประกาศและบังคับใช้ออกมา หลายคนอาจมองโลกในแง่สดสวยว่าโอกาสของ “รถไฟความเร็วสูง” ได้มาถึงแล้ว

เพราะนับแต่นี้เป็นต้นไปก็เท่ากับ “ไฟเขียว” ผ่านตลอด

โอกาสที่จะทุลักทุเลและพังเค้เก้ไม่เป็นท่าเหมือนในยุค น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อย่างที่ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ต้องประสบคงไม่เกิดขึ้น

เพราะ “มาตรา 44” อำนวยความราบรื่นให้

ที่เคยคิดว่าจะได้เห็นเพียง 3.5 กิโลเมตรที่กลางดง ปากช่อง คงไม่เป็นเช่นนั้น หากแต่เป็นไปได้ว่าจะฉลุยอย่างชนิดลุยลายไปถึงนครราชสีมาและหนองคายในที่สุด

แม้ว่าในทางเป็นจริงจะยังมี “ถนนลูกรัง” อยู่ก็ตาม

ถามว่าหากมาตรา 44 มีฤทธานุภาพยิ่งกว่าอภินิหาร ทำไมคสช.และรัฐบาลจึงไม่งัดเอาใช้ตั้งแต่แรกที่รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 สำเร็จ








Advertisement

ทำไมถึงปล่อยมาจนถึงเดือนมิถุนายน 2560

หากแย้งว่าที่จำเป็นต้องใช้มาตรา 44 เพราะว่าผ่านการเจรจาร่วมระหว่างไทยกับจีนมาแล้วถึง 18 ครั้ง แต่ไม่เกิดความคืบหน้า

จึงจำเป็นต้องใช้มาตรา 44 เพื่อ “ปลดล็อก”

คำถามที่ตามมาโดยฉับพลันก็คือ ที่เรียกว่า “ปลดล็อก” นี้ในที่สุดแล้วเป็นการปลดล็อกให้ฝ่ายใดกันแน่ระหว่างไทยกับจีน

เหมือนกับจะปลดล็อกให้ “ไทย” แต่เอาเข้าจริงๆ กลับเป็น “จีน”

การขับเคลื่อนโครงการรถไฟความเร็วสูงมีประวัติศาสตร์และความเป็นมาที่ค่อนข้างคดเคี้ยวและวกวนเพราะผ่านมาแล้ว 3 รัฐบาล

นั่นก็คือ เริ่มต้นจากรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

แต่ปรากฏเป็นรูปเป็นร่างอย่างละเอียดในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยมี นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นตัวชูโรง

โครงการนี้ถูกคัดค้าน ต่อต้านอย่างรุนแรง แข็งกร้าว

ต่อต้านเพราะเห็นว่าเป็นโครงการของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีการต่อต้านทั้งในระบบรัฐสภาและนอกระบบรัฐสภา อาศัยกลไกทุกอย่างที่มีอยู่ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาเป็นเครื่องมืออย่างเต็มที่

และที่สุดก็อาศัย “รัฐประหาร” มาเป็นบทจบ

ลักษณะในทางประวัติศาสตร์ของการคัดค้านและต่อต้านโครงการรถไฟความเร็วสูงนี่แหละจะเป็นอุปสรรค อย่างสำคัญ

พลันที่มีการนำ “มาตรา 44” มาเป็นเครื่องมือ

เหมือนจะเป็น “ไฟเขียว” เหมือนจะเปิดทางสะดวก แต่ก็เริ่มมีความไม่แน่นอนเผยแสดงเป็นลำดับ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน