อำนาจ ปรับครม. – เหมือนกับ “อำนาจ” ในการปรับครม.จะเป็นของ “นายกรัฐมนตรี”

เพราะไม่ว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย รวมถึง นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

ต่างยืนยันด้วยน้ำเสียงอย่างเดียวกัน

มองจากด้านของ “นายกรัฐมนตรี” อำนาจในการปรับครม.เป็นของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะทุกพรรคต้องเสนอชื่อขึ้นไปและให้นายกรัฐมนตรีตัดสินใจ

แต่ “อำนาจ” ในการตัดสินใจเป็นของ “นายกรัฐมนตรี” จริงละหรือ

เพราะหากอำนาจเป็นของ “นายกรัฐมนตรี” ทำไมการปรับครม.จึงล่าช้า เนิ่นนาน

ก็ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล แสดงตนลาออกจากหัวหน้าพรรครวมพลังประชาชาติไทยตั้งนานมาแล้ว ตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายน

พรรครวมพลังประชาชาติไทยก็มีมติ “รัฐมนตรี” คนใหม่ออกมาแล้ว

หากอำนาจเป็นของนายกรัฐมนตรีจริง แล้วเหตุใด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงไม่ยอมนำเอารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานคนใหม่เข้าไปแทนเล่า

คาราคาซังมาถึงเดือนกรกฎาคมทำไม

ยิ่งเมื่อ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และกลุ่ม 4 กุมารลาออกยิ่งเป็นโอกาส
ไม่ว่าตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ไม่ว่าตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน กระทรวงอุดมศึกษา สามารถจัดการได้ทันที

แล้วทำไมจึงไม่ยอมปรับครม.ซะที

ยิ่งรอช้าที่มาดหมายจะให้ นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร เข้าเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานก็อาจไม่เป็นไปตามที่ปรารถนา

เพราะพรรคพลังประชารัฐเห็นว่า นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เหมาะสมกว่า

ระยะเวลาที่ทอดยาว เนิ่นนานจึงพิสูจน์อำนาจของ “นายกรัฐมนตรี”

แม้พรรคพลังประชารัฐจะชู พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ก็มิได้หมายความว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะทำอะไรก็ได้ตามต้องการ

เด่นชัดว่ายังมีอำนาจ “อื่น” เหนือกว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน