วิเคราะห์การเมือง

กรณีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กำลังเสนอมิติและมุมมองใหม่ในการเคลื่อนไหวทางการเมืองภายในสังคมไทย

นี่ไม่เหมือนกับการเคลื่อนไหวในกาลอดีต

ไม่ว่าจะเป็นอดีตเมื่อก่อนรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 ไม่ว่าจะเป็นอดีตก่อนรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557

ตอนนั้นมี “พันธมิตร” ตอนนั้นมี “กปปส.”

เราเห็นผู้นำการเคลื่อนไหวอย่างเด่นชัดว่าเป็น นายสนธิ ลิ้มทองกุล ว่าเป็น นายสุเทพ เทือกสุบรรณ

แต่ในเดือนสิงหาคม 2560 มิได้เป็นเช่นนั้น

บรรดาคนที่เคยสัมผัสกับการเคลื่อนไหวในอดีต ไม่ว่าก่อนรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 ไม่ว่าก่อนรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557








Advertisement

ก็มักจะมองหา “ตัวละคร”

เมื่อเป็นทางด้านพรรคเพื่อไทยและนปช.คนเสื้อแดง ก็มองหาคนอย่าง นายจตุพร พรหมพันธุ์ มองหาคนอย่าง นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ

แต่มองหาก็มองหาย

เพราะ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ก็อยู่คลองเปรม ขณะที่ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ก็เตรียมใส่สูทเดินทางไปให้กำลังใจที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเหมือนที่เคยทำ

ไม่มีการปราศรัย ไม่มีการเปล่งคำขวัญ

หากเข้าไปติดตามการเคลื่อนไหวในลักษณะ “ป้องปราม” อันมาจากแหล่งข่าวในคสช. อันมาจากการแถลงของกรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี หรือสนช.บางคน

ก็จะประจักษ์ว่าล้วนอยู่ในมิติ “เก่า”

นั่นก็คือ สัมผัสได้จากการระบุอัตราค่าว่าจ้างที่ 1,500 บาทต่อหัว การเปิดเผยจำนวนเงินที่มากกว่า 10 ล้านบาท การมอบหมายให้กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) ของแต่ละกองทัพภาคออกสกัดตัดตอนมวลชน

เหมือนกับที่เคยทำหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เหมือนกับที่เคยทำในห้วงแห่งการลงประชามติเดือนสิงหาคม 2559

ยังอยู่ในพื้นที่ “เก่า” ยังอยู่ในความคิด “เดิม”

ไม่มีใครคาดหมายได้ว่า การเคลื่อนไหวมวลชนในวันที่ 1 และในวันที่ 25 สิงหาคม จะดำเนินไปอย่างไร และจะออกมาแบบไหน

เพราะเนื้อหาของการเคลื่อนไหว คือ ให้กำลังใจ

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เองก็เรียกร้องเพียงแต่ว่าขอให้แปรทุกอย่างออกมาเป็นกำลังใจให้กันและกัน ไม่มีอะไรมากกว่านั้น

ไม่มีคำขวัญ ไม่มีการปราศรัย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน