คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

พ้นจากวันที่ 1 สิงหาคม บรรดาคนสำคัญอันมีส่วนในการนำเสนอ “แผนกรกฎ 52” ขึ้นมาเพื่อรับมือกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร คงต้องมีการทบทวน

ไม่ว่าที่นั่งอยู่ใน “คสช.” ไม่ว่าที่นั่งอยู่ใน “รัฐบาล”

เพราะหากประเมินจากการปล่อย “เอกสาร” ของคสช.ออกมาเหมือนกับเป็นการนำร่อง ประสานกับการเคลื่อนไหวของบรรดา “ไอ้ห้อยไอ้โหน” รอบข้าง

ก็ไม่แน่ว่าจะประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด

เนื่องจากกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) ก็เคลื่อนไหวได้ไม่เต็มที่ ยิ่งกว่านั้น การปล่อยข่าวในเรื่องค่าหัวคนละ 1,500 บาทจากสนช.และจากกรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี กลับกลายเป็นการเรียกแขก

ยิ่งทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รับบท “นางเอก” ได้อย่างเต็มภาคภูมิ

ถามว่าการงัดเอาประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 มาขู่โดยพุ่งเป้าไปยัง นายวัฒนา เมืองสุข เป็นเหยื่อรายแรกมีผลอย่างไร








Advertisement

คำตอบเห็นได้ชัดว่า ไม่เกิดความกลัวอะไรเลย

นายวัฒนา เมืองสุข ยังโพสต์ข้อความยืนยันและรอ “หมายเรียก” จากกองปราบปรามอย่างมิได้หวั่นเกรงอะไรเลย

ทั้ง นายจาตุรนต์ ฉายแสง ยังยืนยันจะเดินทางไปให้กำลังใจ

ทั้งๆ ที่เป้าหมายในการงัดเอาประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ออกมาก็เพื่อสร้างความหวาดกลัวทำให้ไม่กล้าขยับขับเคลื่อน

แต่เมื่อพวกเขาไม่กลัวเสียแล้วมาตรการก็เลยเป็นหมัน

ไม่ว่าคดีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถูกฟ้องร้อง ไม่ว่าคำประกาศที่จะเดินทางไปให้กำลังใจบริเวณหน้าศาลของนักการเมืองและบรรดามวลชนสะท้อนสีสันในทางการเมืองอย่างเด่นชัด

เมื่อจุดเริ่มต้นคือ การเมือง ผลสะเทือนและความต่อเนื่องก็เป็นการเมือง ไม่ว่าจะมองจากทางด้านของคสช. ไม่ว่าจะมองจากด้านของพรรคเพื่อไทย

ประเด็นอยู่ที่ว่าใครจะได้ประโยชน์มากกว่ากัน

พรรคเพื่อไทยและ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นั้นมีความเด่นชัดว่าพร้อมยอมรับทุกชะตากรรมที่จะเกิดขึ้น จึงอยู่ที่ว่าจะแปรความคับแค้นให้กลายเป็นพลังในทางการเมืองได้อย่างไร

คำว่าพลังในที่นี้คือ คะแนนนิยมที่จะมีผลต่อการเลือกตั้ง

จากนี้จึงเห็นได้ว่า ไม่ว่ากรณีของคดีอันเนื่องแต่โครงการรับจำนำข้าว ไม่ว่าชะตากรรมที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะต้องประสบในทางการเมือง

ล้วนมีโอกาสกลายเป็น “ประเด็น” ทางการเมืองทั้งสิ้น

ทั้งหมดจึงหลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะกลายเป็นกรอบแห่งการต่อสู้เพื่อสร้างคะแนนนิยมของพรรคเพื่อไทยและจะเห็นได้ผ่านการเลือกตั้ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน