ชุมนุมการเมือง

พุ่งเป้าเข้าสู่รัฐธรรมนูญ

ก้าวไปสู่อนาคต

คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

ชุมนุมการเมือง – การประเมินบทบาทของสถานการณ์วันเสาร์ที่ 18 กรกฎาคมมีความสำคัญ

สำคัญเพราะว่าหากไม่มีการชุมนุมในตอนค่ำ ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันเสาร์ที่ 18 กรกฎาคม ที่มีผู้เข้าร่วมเป็น “เรือนพัน” เป็นครั้งแรก

คงไม่มีสถานการณ์วันอาทิตย์ที่ 16 สิงหาคม

เพราะจากการชุมนุมเมื่อวันเสาร์ที่ 18 กรกฎาคมได้นำไปสู่ข้อเรียกร้อง 1 หยุดคุกคามประชาชน 1 ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่เป็นประชาธิปไตย และ 1 ยุบสภา

คำถามก็คือสถานการณ์วันเสาร์ที่ 18 กรกฎาคม “จุดติด” หรือไม่

คําตอบมีความเด่นชัดอย่างมิอาจปัดปฏิเสธได้ว่า “จุดติด” อย่างยิ่ง

หากไม่สามารถ “จุดติด” คงไม่นำไปสู่ความพยายามในการออก “หมายจับ” ให้กับ นายอานนท์ นำภา นายภาณุพงศ์ จาดนอก เมื่อวันศุกร์ที่ 7 สิงหาคม

นั่นก็คือ การสกัดขัดขวาง นั่นก็คือ การป้องปราม

คำถามอันตามมาโดยฉับพลันทันใดก็คือ แล้วสกัดขัดขวางได้หรือไม่ คำตอบเห็นอย่างเด่นชัดในการชุมนุม ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

เป็นคำตอบจากการเข้าร่วมเป็น “เรือนหมื่น”

การสกัดขัดขวางสถานการณ์วันอาทิตย์ที่ 16 สิงหาคมจึงต้องเกิดขึ้น

ไม่ว่าจะเป็นการขัดขวางด้วยปฏิบัติการไล่ยุงที่ขอนแก่นวิทยายน ไม่ว่าจะเป็นการอุ้มแกนนำอย่างลับๆ เพื่อล้มการชุมนุมที่พิษณุโลก

กระนั้น การชุมนุมก็มิได้สะดุดหยุดลง

สัมผัสได้จากที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย สัมผัสได้จากที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สัมผัส ได้จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยรามคำแหง

อุ่นเครื่องก่อนเข้าสู่วันอาทิตย์ที่ 16 สิงหาคม

สถานการณ์การชุมนุมในวันอาทิตย์ที่ 16 สิงหาคม จึงสำคัญในทางการเมือง

ไม่เพียงแต่เป็นความต่อเนื่องจากสถานการณ์การชุมนุมเมื่อวันเสาร์ที่ 18 กรกฎาคมเท่านั้น หากแต่ยังเป็นการขยายประเด็น “รัฐธรรมนูญ” ให้แจ่มชัด

ปักธง “รัฐธรรมนูญ” ให้เป็นวาระแห่งชาติในที่สุด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน