คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

มีความพยายามในการจะแยก “คนเสื้อแดง” ออกจาก “เยาวชนปลดแอก”

ไม่ว่าจะโดยการอาศัยนามของ คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ ไม่ว่าจะโดยการอาศัยนามของ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ุ ไม่ว่าจะโดยการอาศัยนามของ นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์

เป้าหมายเพื่อแยก “คนเสื้อแดง” ออกมาต่างหาก

รูปธรรมนี้ไม่เพียงแต่เป็นกลยุทธ์โดยพื้นฐานของอีกฝ่ายเท่านั้น หากแต่ยังยืนยันอย่างเป็นรูปธรรมว่าการร่วมกันระหว่าง “คนเสื้อแดง” กับ “เยาวชนปลดแอก”

เป็นอีกมิติในทางการเมืองที่ก่อความอกสั่นขวัญแขวน

 

แท้จริงแล้ว การเสี้ยมเพื่อให้เกิดการแตกแยกจากภายในคือ “กลยุทธ์”

สังเกตหรือไม่ว่า หลังจากสถานการณ์เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม หลังจากสถานการณ์เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม ณ ลานพญานาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

เกิดปฏิบัติการอะไรจากอีกฝ่ายในทางการเมือง

เกิดการเสี้ยมว่ามีความแตกแยกในการชุมนุมเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม โดยไม่ยอมให้ นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ และ น.ส.ปภัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ได้ขึ้นเวทีที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

ทั้งๆ ที่ในวันนั้น นายอานนท์ นำภา ก็ปราศรัยยาวเหยียด

 

ปรากฏการณ์เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม ก่อความตื่นตระหนกอย่างสูง

เพราะว่านั่นเป็นครั้งแรกที่ “คนเสื้อแดง” โดยเฉพาะในกทม.และปริมณฑลทยอยกันเข้าร่วมกับการเคลื่อนไหวของ “เยาวชนปลดแอก”

แม้ไม่มาก แต่ก็มีความคึกคัก

และนั่นเป็นกระดานหกให้การเคลื่อนไหว “19 กันยา ทวงอำนาจ คืนราษฎร” ปรากฏเวทีของ “คนเสื้อแดง” ขึ้นในบริเวณอนุสาวรีย์อาสาหน้า โรงละคอนแห่งชาติ

สะท้อนความร่วมมือระหว่าง “เสื้อแดง” กับ “เยาวชน”

 

จากนั้น ปฏิบัติการเสี้ยม ปฏิบัติการแยก “เสื้อแดง” จาก “เยาวชน” จึงร้อนแรง

เป็นความร้อนแรงท่ามกลางการพัฒนาองค์กรอันหลากหลายเข้าไปอยู่ภายใต้ร่มธงเดียวกันในการเคลื่อนไหว 14 ตุลาคมเพื่อขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

นั่นก็คือ การเกิดขึ้นของ “คณะราษฎร 2563”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน