รายงานพิเศษ : วิเคราะห์เกมส่งตีความแก้รธน.

วิเคราะห์เกมส่งตีความแก้รธน. : การเมืองในสภาร้อนฉ่าขึ้นอีกครั้ง หลังที่ประชุมร่วมรัฐสภามีมติด้วยเสียงข้างมาก 366 ต่อ 316 ให้ส่งตีความการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

อันเป็นผลจากการผนึกเสียงของพรรคพลังประชารัฐ กับส.ว. ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลโหวตสวน

เป็นที่มาเสียงครหายื้อแก้รัฐธรรมนูญ (อีกครั้ง)

ในความเห็นนักวิชาการ มองเรื่องนี้จะส่งผลลบ หรือบวก

อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์

คณะมนุษยศาสตร์ มช.

เจตนาของพรรคพลังประชารัฐ และส.ว.ที่ลงมติส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความอำนาจของรัฐสภาในการแก้ไขรัฐธรรมญนูญ กระบวนการนี้จะเร่งทำให้เกิดความตึงเครียดสูงขึ้น

คำถามที่สำคัญคือถ้าสภาไม่สามารถตัดสินได้ทุกอย่างต้องโยนให้ศาลรัฐธรรมนูญ ก็จะกลายเป็นกลไกที่คนเพียงกลุ่มเดียวเท่านั้นที่เป็นคนตัดสินทุกอย่างแทนเสียงของประชาชนที่เลือกส.ส.เข้าไป

นี่คือเกมเตะถ่วงและเกมรักษาโครงสร้างอำนาจเดิม ที่กำลังทำลายสิ่งที่ควรจะเป็นในระบอบประชาธิปไตย เรื่องนี้ควรเป็นอำนาจของสภาที่จะเป็นผู้ตัดสินเอง

ส่วนที่พรรคร่วมรัฐบาลโหวตสวนพรรคแกนนำรัฐบาลนั้น พรรคการเมืองอย่างน้อยมีฐานมาจากประชาชน ทุกคนรู้สึกอยู่แล้วว่าการโยนไปศาลรัฐธรรมนูญกรณีอื่นอาจได้ แต่กรณีนี้ไม่ใช่

พรรคไหนที่มีขาข้างหนึ่งอยู่กับรัฐธรรมนูญฉบับนี้และอยู่กับรัฐบาลแต่ขาอีกข้างเขาอยู่กับประชาชน ย่อมรู้ดีว่าต้องตอบสนองประชาชน ดังนั้น ยังมีในกลุ่มนักการเมืองที่อยากเห็นสังคมไทยดีขึ้น และอาจมองไปถึงฐานเสียงและคะแนนนิยมในอนาคตด้วย

ส่วนเหตุผลลึกๆ ที่รัฐบาลไม่รีบแก้ไขรัฐธรรมนูญในเวลานี้ คิดว่าเป็นเพราะรัฐบาลเองมองเห็นวิกฤตของอำนาจในบางมิติ ทำให้รัฐบาลมองว่าอย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องมีส.ส. มีฐานนี้ไว้รองรับ

เขาต้องการเอารัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้อยู่ยาวที่สุด หรืออย่างน้อยอีกสัก 2-3 ปี เพื่อที่จะทำให้ตัวเองสามารถดีลกับวิกฤตที่กำลังจะเกิดขึ้น หรือวิกฤตที่ตัวเองรู้สึกว่ามันหนักหน่วง ซึ่งผมมองว่าเป็นวิกฤตทางการเมือง

ในอนาคตอีก 1-2 ปี อาจมีเหตุการณ์ที่เราไม่คาดคิดเกิดขึ้นก็เป็นได้ ส่วนจะรุนแรงหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับชนชั้นนำเขาจะตกลงกันได้หรือไม่ จะต่อรองอย่างไรถ้าต่อรองกันไม่ได้ก็หนักหน่วง

ที่นายกฯ ระบุว่าในเดือนมี.ค.ขั้นตอนต่างๆ น่าจะเสร็จ คิดว่าสิ่งที่นายกฯ พูดยังไม่มีน้ำหนัก ดูแล้วพูดลอยๆ จะอ้างอิงตรงไหนและพูดเพื่ออะไร หรือพูดเพื่อลดความไม่พอใจ เพราะเวลานี้ยังไม่สามารถคาดเดาการพิจารณาของศาลได้ และยังมองไม่ออกว่ารัฐธรรมนูญจะแก้ไขได้จริงจังในรัฐบาลนี้หรือไม่

แต่แนวโน้มที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะยืดออกไปเรื่อยๆ มีมากกว่า และถ้าเป็นแบบนี้จะก่อให้เกิดความตึงเครียดของทั้งสังคมทุกชนชั้นจะทวีมากขึ้น ซึ่งไม่อยากจะให้เกิดและไม่กล้าจินตนาการว่าจะออกมารูปแบบไหน

สมมติว่าถ้าศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องและตัดสินไปตามที่ฝ่ายวุฒิสภาต้องการ ผมคิดว่าจะเป็นตัวจุดชนวนอีกอันที่เป็นปัญหา แต่ว่าจะขยับไปสู่การลงถนนเยอะกว่าเดิมหรือไม่ยังไม่รู้ แต่ทุกคนจะทวีความเกลียดชังมากขึ้น และน่าวิตกมากๆ เวลานี้ยังไม่สามารถประเมินสถานการณ์ได้ เพียงแต่หวังว่าศาลรัฐธรรมนูญจะเห็นว่าเรื่องนี้เป็นอำนาจของรัฐสภา เพราะถ้าเป็นอย่างนั้นก็จะเบาลง แต่ก็จะแปลว่ารัฐบาลเสียหน้า

ทางออกในมุมของผม ถ้าถอนข้อเสนอที่จะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญออกมา ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะทำได้หรือไม่ แต่ถ้าทำได้จะเป็นสิ่งที่ทำให้ปัญหาเบาลงไประยะหนึ่ง

พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย

นิติศาสตร์ จุฬาฯ

มติรัฐสภาส่งตีความการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผมแยกเป็นสองประเด็น คือในเชิงข้อกฎหมาย รัฐรรมนูญเขียนไว้ชัดเจนอยู่แล้ว ในมาตรา 256 ว่ากระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อผ่านวาระ 1, 2, 3 แล้ว สุดท้ายหาก ส.ส. ส.ว.มีความกังวล ก็สามารถส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ มีช่องทางชัดเจนอยู่แล้ว

ส่วนกรณีที่อ้างคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญปี 2555 ตรงนี้เป็นการอ้างที่คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง ไม่สามารถเอามาอธิบายสถานการณ์ในปัจจุบันได้ เพราะในปี 2555 ที่ตีความรัฐธรรมนูญปี 2550 ไม่มีการพูดถึงการทำประชามติ

แต่รัฐธรรมนูญ 2560 ระบุชัดเรื่องการทำประชามติ ในข้อกฎหมายก็ชัดเจนอยู่ ดังนั้น การยื่นให้ศาลเข้ามาตรวจความชอบของรัฐธรรมนูญจะทำได้แค่ไหน เพราะทุกอย่างเขียนไว้ชัดเจน

ถ้าพูดถึงเนื้อหาข้อเท็จจริงทางกฎหมาย การแก้ไขเพิ่มเติมทั้งฉบับอาจอธิบายในสองมุม การแก้ทั้งฉบับหมายถึงต้องมาดูทุกมาตรา เขาก็ยกเว้นหมวด 1 หมวด 2 แล้วจะบอกว่ายกร่างทั้งฉบับได้อย่างไร

ถ้าสมมติไปแก้บางมาตราซึ่งเป็นตัวโครงสร้างหลักของรัฐธรรมนูญ เช่น การปรับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเป็นแบบอื่น หรือจากราชอาณาจักร เป็นแบบอื่นซึ่งทำไม่ได้ ฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องขอแก้ทั้งฉบับ

ส่วนในทางการเมืองโดยพฤติกรรมต่างๆ ทำให้ประชาชนตั้งข้อสงสัยได้ ตั้งแต่มีการเสนอร่างแก้ไข วาระที่ 1 ก่อนจะเอาเข้าที่ประชุมรัฐสภา พรรคร่วมรัฐบาล ฝ่ายค้าน และส.ว.ก็เห็นพ้องกันให้แก้และให้ผ่านวาระ 1 ตั้งแต่แรก แต่ก็ตั้งกมธ.ขึ้นมาศึกษาก่อนโหวตรับหลักการอีก วันนี้ก็ไม่ได้เป็นไปตามที่สัญญาไว้กับสังคม ทำให้ประชาชนไม่พอใจ ล่าสุดมีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความอีก

ปรากฎว่า ตั้งแต่วาระแรกจนถึงส่งศาลรัฐธรรมนูญ ที่ล่าช้ามาจากกลุ่มการเมืองเดียวกันคือ ส.ส.พลังประชารัฐ กับ ส.ว. ประชาชนอาจตั้งข้อสงสัยได้ว่าพลังประชารัฐกับส.ว.กำลังเตะถ่วงในการแก้ไขหรือไม่ มีความจริงใจในการแก้มากน้อย แค่ไหน

ถ้าเป็นลักษณะนี้ก็มีความขัดแย้งค่อนข้างสูง และการที่พลังประชารัฐและ ส.ว.มีภาพอย่างนี้ออกมา ทำให้เกิดคำถามว่าอาจไม่จริงใจในการแก้ไข ล่าสุดถ้าจับคำพูดของนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ไม่ว่าจะมีการแก้รายมาตรา หรือไปถึงขนาดยกเครื่องรัฐธรรมนูญ สุดท้ายความขัดแย้งก็ไม่จบ

ถ้าศาลรับไว้พิจารณากระทบอยู่แล้วไม่มากก็น้อย ทำให้กระบวนการแก้ไขยืดออกไป ซึ่งก็ไม่เป็นผลดีกับรัฐบาล เพราะเมื่อสังคมที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งหรือท่าทีของพรรคร่วมรัฐบาลที่ไม่เห็นด้วย

และที่สำคัญเสียงโหวตส่งตีความ พลังประชารัฐกับ ส.ว.กำลังแสดงตัวให้ประชาชนเห็นยิ่งขึ้น โดยเฉพาะ ส.ว. ไม่มีใครแตกแถว มีแค่งดออกเสียง โดยไม่มีคนเห็นค้าน ภาพชัด ว่าไปในแนวทางเดียวกันทั้งหมด

ทำให้ประชาชนเคลือบแคลงสงสัยได้ว่ากำลังเตะถ่วง ไม่มีความจริงใจ ทั้งที่เป็นข้อเรียกร้องใหญ่ในการชุมนุมหรือไม่ ถ้าเป็นลักษณะนี้ต่อไปจะมีการชุมนุมระลอกใหม่ที่จะรุนแรงมากขึ้นหรือไม่ และต้องไม่ลืมว่ามีกระแสของประเทศเพื่อนบ้านด้วย

และมองว่าเรื่องนี้จะบานปลายไปถึงการต่อต้านรัฐบาลได้แน่นอน แต่จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่อีกเรื่องหนึ่ง แต่เห็นว่ารัฐบาลกำลังเติมเชื้อไฟ เพราะนอกจากญัตตินี้ ยังมีญัตติให้วินิจฉัยการอภิปรายไม่ไว้วางใจอีก ถึงแม้สภาจะไม่ได้ส่งญัตตินี้แต่ภาพก็เกิดจากพลังประชารัฐ เหมือนพลังประชารัฐมั่นใจคุมเสียงในสภาได้ กำลังจะใช้เสียงข้างมากไปกดทับเสียงข้างน้อย ไม่ต่างจากที่ไปกล่าวหารัฐบาลชุดก่อนเป็นผด็จการรัฐสภา

ส่วนจะแก้รัฐธรรมนูญได้ในรัฐบาลชุดนี้หรือไม่ เป็นเรื่องที่ประเมินลำบาก เพราะออกได้หมด

ลักษณะของการแแก้ไขที่ถูกควบคุมได้โดยฝ่ายรัฐบาล พลังประชารัฐ กับ ส.ว.ก็ไม่ได้ตอบโจทย์อะไรอยู่ดี และเป็นอันตราย

โอฬาร ถิ่นบางเตียว

คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา

เจตนาชัดเจนคือการยื้อเพื่อจะไม่แก้รัฐธรรมนูญ 2560 เพราะเป็นฉบับที่สามารถสืบทอดอำนาจของพลังประชารัฐและคสช. ที่สำคัญเป็นรัฐธรรมนูญที่รักษาผลประโยชน์ในรูปของ ส.ว.ที่เป็นคนค้ำบัลลังก์ให้กับรัฐบาล

แต่ที่ผ่านมา รัฐบาลต้องถอยเพราะแรงกดดันจากสังคม ฝ่ายค้านและจากผู้ชุมนุม แต่ตอนนี้สถานการณ์กลับกัน ฝ่ายค้านเองแม้จะมีจุดยืนเรื่องนี้ชัดเจนแต่กลุ่มผู้ชุมนุมกลับมีกระแสลดลง เนื่องจากไปให้น้ำหนักที่เรื่องปฏิรูปสถาบัน อยู่ที่มาตรา 112 ทำให้กระแสคนส่วนหนึ่งหยุดชะงัก แทนที่จะมาเอาเรื่องรัฐธรรมนูญ หรือนายกฯ ลาออก เลยเป็นข้อจำกัดของคนหนุ่มสาวที่จะระดมมวลชน

แต่น่าสนใจ ส.ส.ซีกรัฐบาลอย่างภูมิใจไทย ประชา ธิปัตย์ ไม่เอาแนวทางนี้ ด้านหนึ่งเชื่อว่าพรรคที่ทำงานการเมืองมานานคงรู้อารมณ์ความรู้สึกของประชาชน จึงต้องเว้นระยะห่างกับจุดยืนของพลังประชารัฐ และส.ว.ที่จะดึงดันต่อ

โดยหลักการการส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความผิด หรือไม่ อาจทำให้กระบวนการถ่วงดุลมีปัญหาได้ในท้ายที่สุด เพราะศาลรัฐธรรมนูญควรดูในประเด็นที่มีข้อขัดข้อง ข้อพิพาท การตีความทางกฎหมายที่ไม่ชัดเจน แต่ตอนนี้กลายเป็นว่าทุกๆ เรื่องซีกรัฐบาลเอะอะก็จะส่งศาลรัฐธรรมนูญ

ซึ่งมีข้อถกเถียงอยู่ว่าหากศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องจะทำให้เกิดข้อขัดแย้งในการถ่วงดุลอำนาจ 3 ส่วนทั้งฝ่ายตุลาการ นิติบัญญัติ และฝ่ายบริหารว่ามันอยู่ตรงไหนกันแน่ นี่เป็นเรื่องขัดแย้งกันในทางกฎหมาย

แต่ถ้าดูในทางการถ่วงดุล หากทำแบบนี้จะทำให้อำนาจนิติบัญญัติเสียหาย และถูกลดทอนโดยอำนาจตุลาการทั้งหมดในระยะยาว เพราะจะกลายเป็นบรรทัดฐานทันที

คำนวณไทม์ไลน์ดูแล้ว หากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้แก้ไข รัฐบาลชุดนี้ก็สามารถอยู่ต่อได้ภายใต้เงื่อนไขการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2560 อย่างน้อย 2 ปี อาจจะมีผ่อนวาระและเกิดการเลือกตั้งได้อีก

หรือถึงแม้จะมีการแก้ไขไม่ว่าจะรายมาตราหรือยกร่างใหม่ ดีไม่ดี ส.ส.ร. 200 คน ส่วนใหญ่หรือเกินกึ่งหนึ่งอาจมาจากคนของรัฐบาลก็ได้ เพราะภาพรวมเขาวางค่ายกลของคสช.ไว้หมดแล้วแต่ทำนิ่งเอาไว้

ลองไปดูการเลือกตั้งนายกอบจ.ที่ผ่านมา แม้พลังประชารัฐแสดงจุดยืนไม่ส่งผู้สมัคร แต่ทั้งหมด 76 จังหวัด ซีกรัฐบาลได้ที่นั่งมาเกินครึ่งหนึ่ง คณะก้าวหน้าไม่ได้เลยสักที่นั่ง แปลว่าในพื้นที่เกินกว่า 60 จังหวัดเป็นคนของพลัง ประชารัฐ

ดังนั้น หากเลือกตั้งส.ส.ร. เขาส่งคนลงแล้วใช้แทนฐานคะแนนเดียวกับอบจ. โอกาสได้ตัวแทนที่เป็นส.ส.ร.ก็เยอะแล้ว หากใน 200 คน ได้สัก 150 ถามว่าสังคมจะทำอย่างไร นี่คือสิ่งที่เขาล็อกไว้หมดแล้ว

แต่ทำทีให้ยื้อ ให้ขรุขระ ถ้าปล่อยไปศาลรัฐธรรมนูญไม่รับเรื่องก็กลับมาสู่กระบวนการเดิม นี่เป็นแค่เกมหรือหมากตัวหนึ่งที่เขานำออกมาประวิงเวลา และทำให้เกิดการปั่นป่วนระส่ำระสายไปถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่จะเกิดขึ้นเท่านั้น

แต่ก็น่าสังเกต อาการแบบนี้เทียบเคียงเหตุการณ์ 14 ตุลา จอมพลถนอมก็มีความพยายามยืดเวลาการร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมๆ กับความล้มเหลวในการบริหาร คนออกมาต่อแถวรับอาหาร คล้ายยุค พล.อ.ประยุทธ์ ตอนนี้เลย จุดจบก็คือการลุกฮือครั้งใหญ่ของประชาชน

บวกกับสถานการณ์ของเราตอนนี้ที่ตีคู่ขนานไปกับสถานการณ์ของพม่า อิทธิพลของต่างประเทศอาจกดดันไทยไปพร้อมๆ กับประเด็นในพม่าเช่นกัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน