คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

อำนาจ การเมือง – สถานการณ์ “ปรับครม.” กับท่วงท่าอาการ 4 พรรคสำคัญใน “รัฐบาล”

มีเพียงพรรคภูมิใจไทยเท่านั้นที่สงบนิ่ง ตรงกันข้าม พรรคพลังประชารัฐเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง ตรงกันข้าม พรรคประชาธิปัตย์ปรากฏความหวั่นไหวออกมาเป็นลำดับ

เช่นเดียวกับการตั้งรับของพรรคชาติไทยพัฒนา

ความหวั่นไหวของพรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทยพัฒนา สามารถเข้าใจได้ เช่นเดียวกับการวิ่งแทบตีนพลิกภายในพรรคพลังประชารัฐ

ถามว่าเหตุใดพรรคภูมิใจไทยจึงสงบนิ่ง

ความสงบนิ่งของพรรคภูมิใจไทยมาจากการยึดกุม “แต้มต่อ”ในทางการเมือง

แต้มต่อโดยพื้นฐานของพรรคภูมิใจไทยอยู่ที่ “ปริมาณ”ของ ส.ส.ที่มีอยู่ในมือเพิ่มเป็น 61 ใน เดือนมีนาคม 2564 จากเดิมที่เคยมี 51 ในเดือนมีนาคม 2562

ทั้งยังมีแนวโน้มจะเพิ่มมาอีก 4 ในระยะเวลาไม่นาน เกินรอ

แต้มต่อนี้เมื่อสังคมมองออก พรรคพลังประชารัฐก็ย่อมจะมองออก พรรคประชาธิปัตย์ยิ่งตกอยู่ในความหวั่นไหว เป็นความหวั่นไหวระนาบเดียวกับพรรคชาติไทยพัฒนา

ยิ่งกว่านั้น ยังมีสถานการณ์ที่พรรคพลังประชารัฐต้องเกรงใจ

นั่นย่อมเป็นสถานการณ์อันเป็นความต่อเนื่องจากการลงมติเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์

การลงมติไว้วางใจ ไม่ไว้วางใจ งดออกเสียง ไม่ลงคะแนนในวันที่ 20 กุมภาพันธ์นั้น ปรากฏว่ามี ส.ส. จากพรรคพลังประชารัฐจำนวน 6 คนงดออกเสียงต่อ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ

นี่ย่อมเป็นการผิดมารยาททางการเมืองระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล

พฤติกรรมนี้สร้างความไม่พอใจแก่พรรคภูมิใจไทยเป็นอย่างสูง กดดันผ่าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ กระทั่งพรรคพลังประชารัฐต้องตั้งกรรมการขึ้นตรวจสอบในเรื่องนี้

สถานการณ์นี้สร้าง“แต้มต่อ”ให้พรรคภูมิใจไทยโดยอัตโนมัติ

ผลก็คือ พรรคภูมิใจไทยอยู่ในสถานะที่ครอง “อำนาจ”เหนือกว่าพรรคพลังประชารัฐ

ทำให้พรรคพลังประชารัฐต้องเกรงใจ ทำให้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล สามารถสนทนากับทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้อย่างองอาจ

ความสงบนิ่งจึงกลายเป็นพลังอำนาจของพรรค ภูมิใจไทย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน