ได้ยินเสียงตวาดดังกึกก้อง ณ ตลาดปลา ปัตตานี ได้เห็นกระบวนการสลายการชุมนุม ณ สี่แยกสำโรง สงขลา แล้วก็เหน็ดเหนื่อยแทน นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และ นายกฤษฎา บุญราช

เพราะว่าเรื่องปลา เป็นเรื่องของประมง

เพราะว่าเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหิน เป็นเรื่องของพลังงาน

เหมือนกับเรื่องการประมงสัมพันธ์กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เหมือนกับเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นเรื่องของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

แต่ในที่สุดก็ต้องถึงมือ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์

ความพยายามที่จะเทงบประมาณหลายแสนล้านบาทเพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางด้านอุตสาหกรรมจะประสบความสำเร็จได้อย่างไร

หาก “การเมือง” ยังรุนแรง แข็งกร้าว

ความหวังของ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่จะเห็น “คนจน” ไม่มีเหลืออยู่ในสังคมประเทศไทย เป็นความหวังที่น่ายกย่อง สนับสนุน








Advertisement

เห็นได้จากการเร่งในเรื่อง “อีอีซี”

การสร้างพื้นที่เศรษฐกิจ “พิเศษ” ให้กับชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก คือ การต่อยอดความสำเร็จจากอีสเทิร์น ซีบอร์ด ในยุค พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

แต่หาก “การเมือง” ไม่นิ่ง จะเดินหน้าได้ละหรือ

หากการเมืองเป็นอย่างที่ตลาดปลา ปัตตานี หากการเมืองเป็นอย่างที่สามแยกสำโรง สงขลา อย่าว่าแต่เขตเศรษฐกิจพิเศษเลย

แม้กระทั่ง “โรงไฟฟ้าถ่านหิน” ก็ยากที่จะมีได้

คำว่า “การเมือง” ในที่นี้มิได้หมายถึงการเมืองในแบบที่ศัพท์ใหม่เรียกว่า “โซเชี่ยล มูฟเมนต์” คือ การเคลื่อนไหวจากประชาชนในยุคแห่งโลกาภิวัตน์

หากหมายถึงการเมืองจาก “คสช.”

เหมือนกับว่าความเข้มแข็ง เฉียบขาด อันปรากฏผ่านเสียงตวาด ณ ตลาดปลา ปัตตานี หรือ การรุกเข้าสลายการชุมนุมที่สามแยกสำโรง สงขลา

จะทำให้ทุกอย่าง “นิ่ง” ไม่มีการหือ การอือ

แต่คล้อยหลังจากเสียงตวาดเกิดเสียงแห่ง “ความเงียบ” หรือไม่ คล้อยหลังการจับแกนนำ 16 คนเข้าคุกสามารถสยบให้ประชาชนตกอยู่ในความใบ้ได้หรือไม่

การบริหารในลักษณะ “เสี่ยง” จึงต้องมีลักษณะ “พิเศษ”

ยังไม่มีใครให้คำตอบได้ว่า ความหวังอันแสนงามในเรื่องจะทำให้ “คนจน” หมดสิ้นไปจากประเทศไทยจะปรากฏเป็นจริงได้หรือไม่

และเป็นจริงได้เมื่อใด

แต่ก็ต้องยอมรับ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ คงต้องเหน็ดเหนื่อยเป็นอย่างสูง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน