คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

ความพยายามของ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ณ สามเหลี่ยมดินแดง น่าศึกษา

ไม่เพียงเพราะต้องรับผิดชอบในการเคลื่อนไหว “คาร์ปาร์ก” ในวันอาทิตย์ที่ 15 สิงหาคม ร่วมกับ “คาร์ม็อบ” จากอยุธยาของ นายสมบัติ บุญงามอนงค์ เท่านั้น

หากแต่ยังต้องรับผิดชอบต่อ “มวลชน” อีกด้วย

แม้ว่าคำประกาศของ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ บนรถซึ่งเข้าไปในพื้นที่สามเหลี่ยมดินแดงจะเปี่ยมด้วยเหตุผลและบนพื้นฐานแห่งความห่วงใย

แต่ “มวลชน” จำนวนหนึ่งก็ยัง “เดินหน้า” มิได้หยุดยั้ง

คําถามก็คือ มวลชนที่ไปเคลื่อนไหวในพื้นที่ “สามเหลี่ยมดินแดง” เป็นใคร

ยังไม่มีใครให้คำตอบหรือคำอธิบายได้อย่างแน่ชัด เพราะว่าพวกเขาที่ไปปรากฏตัวมิได้กระทำในนาม “กลุ่ม” หรือมีลักษณะ “การจัดองค์กร” แบบไหน

เพียงมีคำประกาศ “ไปสามเหลี่ยมดินแดง” พวกเขาก็พรึ่บ

บางคนประเมินว่า มวลชนเหล่านี้ด้านหลักเป็น “อาชีวะ” เป็นวัยรุ่นตั้งแต่วัยรุ่นตอนต้นกระทั่งวัยรุ่นตอนกลาง อาศัยความห้าวเป็นเครื่องต่อยอด

และที่สำคัญ ไม่ชอบการกระทำของ “ตำรวจ”

นักวิชาการและผู้มากด้วยประสบการณ์ล้วนมอง “มวลชน” เหล่านี้อย่างคลางแคลง

เนื่องจากเห็นว่า ถึงอย่างไรก็ไม่อาจเอาชนะต่อ “หน่วยควบคุมฝูงชน” หรือ “คฝ.” ได้ เพราะว่าคฝ. มีความพร้อมในด้านยุทโธปกรณ์มากกว่าและมีความชอบธรรมกว่า

แต่ “มวลชน” เหล่านี้ก็พร้อม “บวก” พลันที่มีสถานการณ์

ไม่มีใครคาดได้ว่าสถานการณ์ในตอนค่ำวันที่ 15 สิงหาคมจะมีความร้อนแรง เพราะทั้ง นายสมบัติ บุญงามอนงค์ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ได้ป้องปรามแล้วตั้งแต่ต้นมือ

สะท้อนว่าทั้งหมดล้วนเป็น “มวลชน” อิสระ ไม่ขึ้นต่อใคร

ปรากฏการณ์ของมวลชนในพื้นที่สามเหลี่ยมดินแดงมีลักษณะ “อนาธิปไตย”

เป็นองค์กรที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ ไม่มีใครประกาศตนเป็นผู้นำ ไม่มีแถลงการณ์ ไม่มีการนัดหมายอย่างเป็นระบบ อาศัยความสะดวกเป็นใหญ่

“มวลชน” เหล่านี้กำลังสร้าง “จุดร้อน” ในทางการต่อสู้ขึ้นมา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน