คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

ลุงนวมทอง ไพรวัลย์ รัฐประหาร 19 กันยายน “ต้าน” รัฐประหาร

ทําไมเมื่อแถลงถึงการเคลื่อนไหว 19 กันยายน นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ต้องเปลี่ยนลุกส์

ทุกครั้งที่ออกมาแถลง นายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ ต้องใส่เสื้อ “แดง” แต่ครานี้ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ กลับสวมเสื้อสีฟ้า และเด่นชัดว่าเป็นเครื่องแบบของ“แท็กซี่”

นั่นเพราะเป็นการรำลึกถึง ลุงนวมทอง ไพรวัลย์ ซึ่งเป็นคนขับแท็กซี่

เพียงแต่คนขับแท็กซี่นาม ลุงนวมทอง ไพรวัลย์ เป็นคนขับแท็กซี่ซึ่งกล้าขับรถเข้าปะทะกับรถถังจากสถานการณ์รัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549

นามของ ลุงนวมทอง ไพรวัลย์ จึงเป็นนามแห่งวีรชนต้าน “รัฐประหาร”

 

ปฏิมาแห่งการต้าน“รัฐประหาร”จึงแยกไม่ออกไปจากนามของ ลุงนวมทอง ไพรวัลย์

น่าสังเกตว่า นับแต่การเสียสละของ ลุงนวมทอง ไพรวัลย์ เมื่อปี 2549 เป็นต้นมา มีแต่”นปช.”เท่านั้นที่ยังเสมอต้นเสมอปลายในการรำลึกถึงวีรกรรม

เมื่อครบรอบปีก็จะมีการนำ“หรีด”ไปไว้อาลัย แสดงความเคารพ

ไม่ว่าจะเป็น นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ ไม่ว่าจะเป็น นางธิดา ถาวรเศรษฐ์ ไม่ว่าจะเป็น นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ไม่เคยว่างเว้น เว้นแต่ไม่สามารถไปได้

ณ วันที่ 19 กันยายน 2564 นี้ก็เป็นบรรยากาศเดียวกัน

 

นามของนักต่อสู้อาจจะดำรงอยู่อย่างเงียบเหงาในตอนต้น แต่ก็ดำเนินไปอย่างมีพลวัต

ขอให้สังเกตนามของ จิตร ภูมิศักดิ์ แรกที่เสียสละบนเทือกเขาภูพานในปี 2509 ความรับรู้ก็อยู่ในวงแคบ แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไปก็เริ่มมีการเขียนถึง เอ่ยถึง

มีการตั้งสมญาให้ว่าเป็น“ผู้มาก่อนกาล”จาก ปัญญาชน นักวิชาการ

ณ วันนี้ นามของ จิตร ภูมิศักดิ์ ซึ่งเคยเป็นนาม “ต้องห้าม”สำหรับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้รับการฟื้นและจัดงานรำลึกโดยนิสิตปัจจุบันอย่างคึกคัก

นี่ก็เช่นเดียวกับนามของ ลุงนวมทอง ไพรวัลย์

ตราบใดที่รัฐประหาร 19 กันยายน ดำรงบทบาทในการเปิดประตูให้กับรัฐประหาร 2557

นามของ ลุงนวมทอง ไพรวัลย์ ก็จะเป็นคู่เปรียบเทียบกับนามของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นคู่เปรียบเทียบกับนามของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

การเคลื่อนไหวในวันที่ 19 กันยายนจึงเปี่ยมด้วยความหมาย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน