เปิดปท.1พย.-วัดดวงประเทศไทย

เป็นประเด็นถกเถียงในวงกว้าง สำหรับการประกาศเปิดประเทศ 1 พ.ย. ของรัฐบาล เหมาะสม หรือไม่ในช่วงเวลานี้

เพราะเสี่ยงอย่างมากเมื่อเปิดประเทศแล้ว สถานการณ์โควิดจะกลับมาระบาดครั้งใหญ่

มีความเห็นจากนักวิชาการที่เกาะติดสถานการณ์

สุรชาติ บำรุงสุข

คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

ถ้าจะเปิดประเทศได้รัฐบาลคงต้องมีมาตรการมาก กว่านี้ เพราะว่าเงื่อนไขสำคัญที่สุดในการเปิดประเทศคือความพร้อมของคนในบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การได้รับวัคซีนที่ค่อนข้างจะมีความพร้อมมากกว่านี้

แต่ถ้าเราเปิดประเทศในขณะที่ความพร้อมไม่มี เชื่อว่าหลายฝ่ายคงเป็นกังวลว่ามันจะเป็นจุดเริ่มต้นของการระบาดครั้งใหญ่ ดังนั้น เรื่องเปิดประเทศจึงยังคงเป็น ข้อถกเถียงกัน

ขณะเดียวกัน ก็เข้าใจว่าทางรัฐบาลพยายามจะหันไปดูมิติทางเศรษฐกิจเป็นหลัก เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจในช่วงหลังโควิดตั้งแต่ปี 2563 ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก

ฉะนั้นส่วนตัวเชื่อว่าวันนี้เหมือนกับการเสี่ยงทายว่า ระหว่างการเปิดประเทศโดยมีมาตรการอย่างที่เราเห็น ในขณะเดียวกันกับเสียงเรียกร้องอีกส่วนหนึ่ง อยากเห็นการมีมาตรการอีกสักระยะหนึ่ง เพื่อสร้างความมั่นใจ ด้วยสภาวะที่อัตราการติดเชื้อของคนในสังคมลดลงมากกว่านี้น่าจะเป็นเงื่อนไขที่ดีกว่า

เพราะฉะนั้นอนาคตก็คงเป็นเหมือน “การวัดดวงประเทศไทย” ซึ่งผมขอใช้คำว่า “วัดดวง”

ถามว่าเมื่อเปิดประเทศแล้ว จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวเมืองไทยอย่างที่รัฐบาลคิดไว้จำนวนมากน้อยแค่ไหนนั้น มองว่าเรื่องจำนวนนักท่องเที่ยวคงไม่ได้ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของประเทศเราอย่างเดียว ต้องขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่เขาจะมองเข้ามาอีกมุมหนึ่งด้วย

ประการแรก สถานการณ์ในประเทศไทยมีความปลอดภัยมากน้อยเพียงไร สองมาตรการในการเข้ามาจะทำให้พวกเขามีความคล่องตัวในการท่องเที่ยวได้แค่ไหน หรือบางกรณีอาจอยู่ในเงื่อนไขของประเทศเขาเองว่า อนุญาตให้คนภายในประเทศเขาออกมาท่องเที่ยวมากน้อยเพียงใด อย่างเช่นกรณีของประเทศจีน

ส่วนเป้าหมายของ พล.อ.ประยุทธ์ ในการประกาศ เปิดประเทศก็คิดว่าเป็นสถานการณ์การเมืองอย่างที่เราเห็น เพราะว่าแรงกดดันต่อรัฐบาลเรื่องนี้มีค่อนข้างมาก เข้าใจว่าการเปิดประเทศ คงเป็นเหมือนความพยายามจะลดแรงกดดัน แต่ขณะเดียวกัน ถ้าเปิดแล้วสามารถทำ ให้เศรษฐกิจกระเตื้อง ก็จะทำให้ภาพลักษณ์ของรัฐบาล ดูดีขึ้น

ส่วนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ยังมีผลบังคับใช้อยู่นั้น ถ้าจะเปิดประเทศก็คงต้องลดมาตรการของกฎหมายที่เข้มข้นลง ส่วนภาครัฐจะเตรียมตัวเรื่องข้อกฎหมายอย่างไรคงต้องไปดูกันข้างหน้า

แต่สิ่งที่รัฐบาลต้องระมัดระวังคือ การติดเชื้อจากภายนอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของเชื้อกลายพันธุ์ หวังว่ามาตรการทางการแพทย์ของรัฐบาลจะสามารถควบคุมการระบาดอย่างนั้นได้

อีกส่วนหนึ่งเชื่อว่าการเปิดประเทศอาจต้องการเงื่อนไขพื้นฐานหลายอย่าง เพื่อจะแสดงให้เห็นว่าสังคมไทยกลับเข้าสู่ภาวะปกติจริงๆ

สุรวุฒน์ ช่อไม้ทอง

คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มอ.ปัตตานี

เรายังไม่พร้อมจะเปิดประเทศในวันที่ 1 พ.ย. ทั้งจำนวนวัคซีนที่ฉีดให้ประชาชน และมาตรการที่จะรองรับ หากปรับเป็นช่วงต้นปี 65 หรือ มี.ค.-เม.ย.65 ซึ่งจะมียาเข้ามามากมาย และเร่งระดมฉีดวัคซีนให้ประชาชนให้ได้ตามเป้า แบบนั้นถึงจะพร้อม แต่ตอนนี้เรายังไม่พร้อม

กรณีประเทศจีนจะจัดโอลิมปิกฤดูหนาว ก.พ.65 ก็ยังไม่อนุญาตให้คนต่างชาติเข้าประเทศ ข้อมูลของซีเอ็นเอ็นทราเวลระบุ 43% ของคนจีนได้รับวัคซีนครบแล้ว แต่ประเทศไทยได้รับวัคซีนสองเข็มประมาณ 33% ขณะที่จีนเกิดการติดเชื้อน้อยมากก็ยังปิดประเทศ

เมื่อดูข้อมูลการท่องเที่ยวปี 62 นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวไทยมากที่สุดคือคนจีน ประมาณ 11 ล้านคน ซึ่งจีนไม่อนุญาต ให้คนเข้ามาเที่ยวอยู่แล้ว รองลงมาคือรัสเซียและสหรัฐ ซึ่งรัสเซียฉีดวัคซีนให้คนในประเทศได้ประมาณ 28% ถามว่าจำนวนผู้ได้ฉีดวัคซีนจะเข้ามาเที่ยวไทยมากน้อยแค่ไหนเราก็ไม่มีทางรู้ ขณะที่สหรัฐมีนักท่องเที่ยวทั้งแบบแบ๊กแพ็กคู่รักที่ไม่กลัวอะไรเลย กับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาตามปกติแบบมีคุณภาพ

ดังนั้น เมื่อเราเปิดประเทศแล้วจีนมาไม่ได้ รัสเซีย ก็มาไม่เยอะ สหรัฐก็ไม่รู้ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยวแบบไหน ดังนั้นถ้าเปิดประเทศมั่นใจได้หรือไม่ว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้า มาจริงๆ

ในส่วนภาคใต้ มาเลเซียฉีดวัคซีนไปแล้วประมาณ 80% และอนุญาตให้เดินทางข้ามประเทศได้ แต่กลับมาดู 4 จังหวัดชายแดนใต้ สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส ตัวเลขผู้ติดเชื้อแทบจะท็อปไฟว์ ถามว่าคนมาเลเซียอยากมาเที่ยวไหม รัฐบาลเขาจะมั่นใจได้แค่ไหน

ข้อมูลปี 60 รายได้จากการท่องเที่ยวอยู่ที่กรุงเทพฯ 5 แสนกว่าล้านบาท รองลงมาคือภูเก็ต 3.6 แสนล้านบาท ชลบุรี สุราษฎร์ธานี กระบี่ เชียงใหม่ ประเด็นคือจังหวัด เหล่านี้เป็นจังหวัดที่สร้างรายได้ ขณะที่จังหวัดอื่นไม่ สามารถสร้างรายได้ได้ หากต้องล็อกดาวน์กันอีกครั้ง ซึ่งแนวโน้มเป็นไปได้สูง จังหวัดที่ไม่สามารถสร้างรายได้จะทำอย่างไร

ขณะที่นักท่องเที่ยวที่เราคาดหวังอย่างจีนไม่มาแน่ รัสเซียก็ไม่แน่ใจ สหรัฐก็ไม่รู้ มาเลเซียก็ยังไม่รู้เลย ดังนั้นประเด็นคือเราจะได้คุ้มกว่าที่เสียหรือไม่

ดังนั้น จะเป็นไปได้หรือไม่หากเราจะเลื่อนเปิดประเทศ ไปในช่วงต้นปี 65 รอให้ยาโมลนูพิราเวียร์เข้ามาให้ได้ในปริมาณที่มากเป็นสิบล้านเม็ด เปิดประเทศหากติดเชื้อกินยาปุ๊บรักษาตัวอยู่บ้านแล้วหาย แบบนี้ค่อยน่าเสี่ยง จึงมองว่าเปิดประเทศได้แต่ยังไม่น่าใช่ 1 พ.ย.นี้

หากเปิดประเทศโอกาสการระบาดของโควิดอีกระลอกเกิดขึ้นได้ เช่น จ.ปัตตานี มีกรณีติดเชื้อทั้งแบบเปิดเผยและ ไม่เปิดเผยข้อมูล ไม่มีความโปร่งใสในข้อมูลข่าวสารที่แท้จริง ถ้าตัวเลขลดในเชิงการเมือง คืออันตรายอย่างสูงสุดต่อ ระบบสาธารณสุขและคนไทย ในการปกปิดตัวเลขเพื่อให้ ภาพดูสวยหรู

หากเปิดประเทศ ผับ บาร์ เป็นตัวขับเคลื่อนธุรกิจท่องเที่ยวก็จริง แต่อย่าลืมว่าการระบาดระลอก 2, 3 ที่ผ่านมา ก็มาจากธุรกิจประเภทนี้ ดังนั้นมีแนวโน้มสูงว่าโควิดจะกลับมา ระบาดแน่ หากเราเปิดประเทศจริงๆ มีนักท่องเที่ยวเข้ามาจริงๆ และคนในประเทศเที่ยวกันจริงๆ

พล.อ.ประยุทธ์พยายามเปิดประเทศให้ได้ภายใน วันที่ 1 พ.ย. แม้มีหลายฝ่ายคัดค้าน ส่วนตัวมองในเชิงการเมืองมากกว่า นายกฯอาจกลัวเสียหน้าแล้วก็อยากทำผลงาน อยากทำให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนด้วยเครื่องจักรตัวนี้ จีดีพีด้านการท่องเที่ยวประมาณ 15-20% ก็มากอยู่ แต่จะมีจีดีพีตัว อื่นที่จะสร้างได้หรือไม่ เพราะต้องไม่ลืมท่องเที่ยวกระจุก แต่เชื้อกระจาย ซึ่งน่ากลัว

ส่วนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน รัฐบาลอาจยกเลิกบางพื้นที่มากกว่า พื้นที่ใดที่ยังสาหัสอย่างเช่น 3 จังหวัดชายแดนใต้ ที่ยังไม่มี นักท่องเที่ยวเข้ามาก็คงจะต่อ ส่วนพื้นที่เป้าหมาย เช่น กรุงเทพฯ ภูเก็ต ชลบุรี อาจยกเลิก ไม่อย่างนั้นก็จะดูตลก

เดชรัต สุขกำเนิด

คณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์

การควบคุมโรคโดยใช้วิธีการแบบเดิมเหมือนเมื่อปีที่แล้ว คือควบคุมเข้มงวดจนกิจกรรมทางเศรษฐกิจเดินไม่ได้ คงเป็นแบบนี้ต่อไปไม่ได้ จึงจำเป็นต้องทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมา

แต่เข้าใจว่าการเปิดประเทศที่รัฐบาลพูดกับความเข้าใจของประชาชนไม่เหมือนกัน รัฐบาลให้น้ำหนักการเปิดให้นักท่องเที่ยว หรือผู้มาจากต่างประเทศได้เข้ามามากขึ้น แต่ในมุมมองประชาชนที่ยังเป็นห่วงกันอยู่คือการได้ทำกิจกรรมตามปกติให้เกิดความสะดวกขึ้น ยังไม่ชัดเจน ตัวอย่างคือเรื่องเปิดเรียน ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน

เวลารัฐบาลจะพูดเรื่องเปิดประเทศไม่ควรพูดใน มิติเดียว หรือแค่การให้คนต่างประเทศเข้ามา มาตรการภายในประเทศควรระบุให้ชัด ความหมายที่คนไทยอยากได้ยินคือ เราสามารถทำอย่างอื่นได้ตามปกติ แต่ยังจะรักษามาตรการป้องกันไว้อยู่ ไม่ใช่ว่าตอนนี้ยังคงมี พ.ร.ก.ฉุกเฉินอยู่ หรือบางกิจกรรมยังปิดอยู่

การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวในระยะต้น อย่างน้อยที่สุดในไตรมาสนี้ ไม่ได้มีผลทางเศรษฐกิจมากเท่ากิจกรรมภายในประเทศ ฉะนั้นสิ่งที่ประชาชนอยากรู้คือเรื่องกิจกรรมเศรษฐกิจภายในมากกว่า

การเปิดประเทศไม่จำเป็นต้องมีความพร้อม 100 เปอร์เซ็นต์ก็ได้ แต่นายกฯ อาจพูดครึ่งเดียวคือแค่ให้คนต่างประเทศเข้ามา เลยทำให้คนไทยเข้าใจว่าแค่กิจกรรมภายในยังทำไม่ได้ และคิดว่านักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาก็ยังไม่สามารถทำกิจกรรมได้เต็มที่

เมื่อเปิดประเทศนักท่องเที่ยวคงไม่เข้ามาเร็ว เพราะเขาต้องคิดว่ามาไทยต้องผ่านหลายประเทศ แต่ละประเทศมีมาตรการอย่างไร เมื่อกลับไปยังประเทศของตัวเองจะมีมาตรการอย่างไรอีก จึงมองว่านักท่องเที่ยวจะไม่ได้เข้ามาแบบปกติเหมือนเมื่อก่อน อาจค่อยๆ เข้ามา

แต่สิ่งที่เป็นปัญหาคือ รายได้ที่เกิดจากการใช้จ่ายของคนภายในประเทศ ซึ่งตอนนี้ยังไม่ค่อยชัดเจนมากนัก รวมถึงมาตรการฟื้นฟูถ้าเปิดประเทศแล้วจะเป็นอย่างไร เช่นที่เราเห็นล่าสุดคือ การช่วยเหลือผู้ขับแท็กซี่ แต่ก็มีคำถามว่าแล้วสายอาชีพอื่นๆ จะช่วยอย่างไร ดังนั้น การเปิดประเทศในความหมายของคนไทยคือเขาจะอยู่ในประเทศได้อย่างปกติ ไม่ใช่จะมีคนนอกเข้ามามากขึ้น

ส่วนเมื่อเปิดประเทศแล้วยอดคนติดเชื้อจะพุ่งขึ้นหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับมาตรการ เช่น การได้รับวัคซีน และเรื่องของวิวัฒนาการของตัวเชื้อโรคด้วย

เป้าหมายของนายกฯ ในการเปิดประเทศ ในแง่เศรษฐกิจก็สำคัญ แต่คนไม่ได้มาลุ้นกันเรื่องจำนวนนักท่องเที่ยว นายกฯ ตีโจทย์กับความรู้สึกของประชาชนผิด วิธีการสื่อสารเป็นปัญหาของนายกฯ และรัฐบาลชุดนี้

ตัวอย่างการพูดเปิดประเทศในรอบ 3-4 เดือนก่อน พูดแบบไม่ได้บอกว่าหมายความว่าอะไร ไม่ชัดเจน การพูดแบบนี้มันดีต่อคนพูดที่ดูยืดหยุ่น ไม่รัดตัวเอง แต่ทำให้คำพูดไม่มีน้ำหนัก เจตนาของนายกฯ ครั้งนี้ก็คงพยายามจะสร้างผลงาน แต่ตีโจทย์คนไทยผิด

ถามว่าการเปิดประเทศในเวลานี้รัฐบาลมีความพร้อมมากน้อยแค่ไหน ก็ต้องบอกว่าสิ่งที่ต้องเตรียมยังไม่ครอบคลุมจนเรารู้สึกสบายใจได้เลย โดยเรื่องสำคัญที่ต้องตอบภายในเร็วๆ นี้เป็นเรื่องการเรียนการสอน

ถ้าเปิดประเทศเข้าใจว่าคนไทยก็ต้องหมายถึงมีสถานการณ์ปกติ การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นหนึ่งในสถานการณ์ไม่ปกติ ดังนั้น การนำพ.ร.บ.ควบคุมโรคมาใช้น่าจะเหมาะกว่า

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน