คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

ช่องว่าง ถ่างยาว กระทรวง กับ นักเรียน ผ่าน นักเรียนเลว

การปรากฏขึ้นของหนังสือคู่มือ “เอาตัวรอดในโรงเรียน” ถือได้ว่าเป็น “ปรากฏการณ์”

ไม่เพียงเพราะเป็นคู่มือที่ได้รับความสนใจจาก “นักเรียน”อย่างกว้างขวางยอดความต้องการ ทะยานไปสู่หลักหมื่นตั้งแต่วันแรกและต่อเนื่อง ไม่ขาดสาย

หากยังเร้าความสนใจเป็นอย่างสูงต่อสังคม

เป็นปรากฏการณ์เหมือนกับที่ “นักเรียน” เคยแสดงออกอย่างคึกคักในเดือนสิงหาคม 2563 หลังการชุมนุมใหญ่ “เยาวชนปลดแอก” ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

แสงแห่งสปอตไลต์จึงพุ่งจับ “นักเรียนเลว”

ถามว่าเป้าหมายของ “นักเรียนเลว” นับแต่เดือนสิงหาคม 2563 ดำเนินมาอย่างไร








Advertisement

ตอบได้อย่างไม่ลังเลว่า พุ่งเข้าใส่กระทรวงศึกษาธิการ ไม่ว่าจะเป็นยุคของ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ต่อเนื่องมายังยุคของ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง

ยุค นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ มีการดีเบตบนเวทีเดียวกัน

ขณะที่ในยุคของ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง ไม่เพียงแต่จะพูดกันคนละภาษา คนละสำเนียง หากแต่ดำเนินไป ในลักษณะเดินกันคนละเส้นทาง

เส้นทางหนึ่งเป็นสายเก่า เส้นทางหนึ่งเป็น สายใหม่

ใครก็ตามที่เกาะติดกับการเคลื่อนไหวของ “นักเรียนเลว” ก็จะเห็นภาพเปรียบเทียบ

ขอให้ไปดูหน้าเพจของ “นักเรียนเลว” ไม่ว่าบน เฟซบุ๊ก ไม่ว่าบนทวิตเตอร์ ก็จะประจักษ์ในการก้าวอย่างเท่าทันกับ “เทคโนโลยี” แนบชิด

ไม่ว่าจะเป็น “คู่มือ” ไม่ว่าจะเป็นการเผยแพร่ “คลิป”

ยอมรับเถิดว่า “นักเรียนเลว” ก้าวล้ำไปจาก น.ส.ตรีนุช เทียนทอง ทะยานเลย คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ไปแล้วหลายล้านกระเบียดนิ้ว

ยากเป็นอย่างยิ่งที่จะสามารถมาบรรจบ พบกัน

ถามว่าปรากฏการณ์จาก “นักเรียนเลว” ให้ บทเรียนและประสบการณ์แบบใด

ตอบได้เลยว่า นี่คือรูปธรรมอันตอกย้ำและ ยืนยันให้ประจักษ์ใน “ช่องว่าง” ระหว่างนักเรียน กับกระทรวงศึกษาธิการอย่างชนิดอยู่คนละพื้นที่

คนที่จะต้องเหนื่อยอย่างสาหัสย่อมเป็น “ครู” และ “โรงเรียน”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน