รายงานพิเศษ

‘ของแพง’ปมร้อนเขย่ารัฐบาล

ปัญหา “ของแพง” เป็นอีกประเด็นร้อนที่เข้ามาซ้ำเติมสถานการณ์ โควิด

เนื้อหมู ไก่ ไข่ พาเหรดขึ้นราคา สาเหตุมาจากอะไร

ใครต้องรับผิดชอบ แล้วจะแก้อย่างไร มีคำตอบจากนักเศรษฐศาสตร์

พร้อมมุมมองต่อผลกระทบที่มีต่อรัฐบาล

พรายพล คุ้มทรัพย์

นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์

ราคาของแพงขณะนี้คงด้วยราคาน้ำมันที่เพิ่มทำให้สินค้าอื่นๆ มีราคาเพิ่มขึ้นด้วย และตอนนี้ราคาเนื้อหมู ไก่ และไข่ไก่ก็แพงขึ้น โดยไก่ ไข่ไก่ขึ้นราคามีส่วนมาจากราคาหมูที่แพงขึ้น เพราะเนื้อหมูแพงคนก็หันมาซื้อไก่ ไข่ไก่ กันเยอะขึ้น เรียกได้ว่าสินค้าโภคภัณฑ์ที่เป็นเชื้อเพลิงและอาหารขึ้นราคา ส่วนอื่นๆ ยังไม่ค่อยแพงเท่าไร

เรื่องราคาน้ำมันมาจากตลาดโลก และ ร่อยหรอลงไปเรื่อยๆ จึงเป็นข้อจำกัด แม้จะมีความพยายามตรึงราคาแต่ก็ตรึงได้แค่นั้น จะใช้เงินกองทุนก็ไม่ได้เพราะถูกจำกัดด้วยข้อกฎหมาย

แต่เรื่องราคาเนื้อหมูอาจมาจากความบกพร่องของ กระทรวงเกษตรฯ กรมปศุสัตว์ที่ไม่ได้ดูแลอย่างใกล้ชิด ถือเป็นข้อด้อยข้อจำกัดอีกอย่างในส่วนราชการ ถ้ารู้ปัญหาเร็วแก้ไขได้เร็วก็อาจบรรเทาปัญหาไปได้

ส่วนที่พรรคพลังประชารัฐกับพรรคประชาธิปัตย์โยนความรับผิดชอบกันอยู่นั้น ความรับผิดชอบควรเป็นของรัฐบาล ไม่ว่าจะพรรคไหนที่ร่วมรัฐบาลอยู่ก็ต้องร่วมกันรับผิดชอบ แม้จะรู้ดีว่ากระทรวงเกษตรฯ แยกกันดูแล แต่จะไปโทษคนใดคนหนึ่ง หรือพรรคใดพรรคหนึ่งคงไม่ได้ เป็นภาพรวมที่ต้องร่วมกันรับผิดชอบ

ตั้งแต่หัวจดเท้าก็ว่าได้ หัวคือนายกรัฐมนตรีคงปฏิเสธการรับผิดชอบไม่ได้ รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรฯ ก็ต้องรับไปด้วย รัฐมนตรีช่วยที่ดูแลกรมปศุสัตว์ก็ต้องรับไปด้วย ต้องรับผิดเป็นทอดๆ ร่วมกัน ก็เลือกมาเป็นรัฐบาลร่วมกันแล้วก็ต้องร่วมกันรับผิด การประชุมครม.ก็ประชุมกันทุกสัปดาห์ทำไมไม่คุยกัน

เชื่อว่าปัญหาเหล่านี้จะกระทบถึงเสถียรภาพรัฐบาลได้ น่าจะสะท้อนถึงผลการเลือกตั้งครั้งหน้า และยิ่งในกทม.ยิ่งสะท้อนได้มากสุดว่าเลือกตั้งครั้งหน้าพรรครัฐบาลจะยังคงได้ ส.ส.เหมือนเดิมหรือไม่ ถือว่าเป็นตัวชี้ที่สำคัญ เพราะคนกทม.เวลาเกิดปัญหาเขาตอบโต้โดยไม่ได้เกรงอกเกรงใจใคร ไม่ว่าจะเป็นพรรคไหนก็ตาม

ราคาของแพงเป็นปัญหาที่รุนแรงรองลงมาจากโควิด หรืออาจต่อเนื่องจากสถานการณ์โควิดก็ว่าได้ เรื่องโควิดก็มีบกพร่องบ้าง แก้ตัวกันมาได้บ้าง แต่ครั้งนี้คงต้องตอบคำถามเยอะขึ้น และทุกวันนี้เรายังไม่ได้คำตอบที่น่าพอใจจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง

ทั้งตัวรัฐมนตรีเกษตรฯ ที่ยังไม่ได้มาอธิบายอะไรเลย ยิ่งเป็นนายกฯ เองยิ่งแล้วใหญ่ ไม่ได้พูดอะไรเลย จึงเป็นประเด็นที่หลายคนคลางแคลงใจทำไมเนื้อหมู ไก่แพงและจะมีอย่างอื่นแพงขึ้นอีกหรือไม่ ทั้งๆ ที่ตอนนี้ก็ย่ำแย่ ยากลำบาก ตกงานอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตามแม้ปัญหารุม แต่เชื่อว่ารัฐบาลคงอยู่ได้ แต่จะอยู่ด้วยความไม่สบายอกสบายใจ ไม่สะดวกสบายมาก เพราะคนจะด่าและโทษว่าเป็นความผิดของรัฐบาลหรือไม่ และฝ่ายค้านก็เตรียมซักฟอกแล้ว

แนวการแก้ไข คงต้องแก้ตั้งแต่หัวปัญหา ต้องมีการชี้แจง บอกแนวทางการแก้ไขว่าจะแก้อย่างไร จริงๆ ปัญหานี้แก้ได้ ตอนนี้หมูขาดห้ามส่งออกก็เป็นเรื่องดีแล้ว ส่วนนำเข้าก็ต้องไปหาที่ที่ไม่มีโรคอหิวาต์ระบาด เพราะราคาหมูแพงตอนนี้ไม่ใช่ทั่วโลกแพง ดังนั้นต้องหาว่าเจะนำเข้าได้หรือไม่ หรือจะเร่งซัพพลายเออร์อย่างไรในประเทศ

แต่ตอนนี้ฝ่ายที่รับผิดชอบยังบอกปัญหาโรคนี้ไม่ได้เลย อธิบดีกรมปศุสัตว์พูดไม่ชัดเจน ตกลงโรคนี้ระบาดหรือไม่ระบาด ถ้าให้คะแนนการชี้แจงคงให้สอบตก

กิตติ ลิ่มสกุล

นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์

สินค้าในประเทศมีราคาแพงขณะนี้ เป็นปัญหาด้านอุปทาน (supply) หมายถึง ปริมาณความต้องการเสนอขายสินค้าและบริการ ซึ่งหลังจากเกิดวิกฤตแล้ว ส่วนใหญ่ปัญหาจะเกิดทางฝั่งอุปทาน

ส่วนสินค้าทั่วไปหลังจากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจทุกครั้ง สิ่งที่เกิดตามมา คือ Supply Shock หรือเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด ซึ่งเปลี่ยนอุปทานของผลิตภัณฑ์หรือสินค้าโภคภัณฑ์อย่างกะทันหัน ส่งผลให้ราคาเปลี่ยนแปลงโดยไม่คาดคิด ทำให้สินค้าไม่เพียงพอ เพราะการขนส่ง การผลิตไม่สามารถทำได้

การที่รองนายกฯ พูดว่าเป็นปัญหาด้านอุปสงค์ (Demand) หรือความต้องการซื้อ มีคนไปแย่งกันซื้อสินค้า น่าจะไม่ถูกต้อง ไม่รู้ไปเรียนมาจากที่ไหน เพราะที่จริงแล้วเป็นปัญหาด้านอุปทาน

เงินเฟ้อมีอยู่ 2 ด้านเสมอ คือ ด้านอุปทานกับอุปสงค์ กรณีที่เกิดขึ้นขณะนี้เป็นปัญหาด้านที่เกิดจาก Supply Shock เพราะสินค้าเกี่ยวกับโภคภัณฑ์ทั้งหลายปรับราคาขึ้นทั้งหมด เพราะการผลิตหยุดชะงักสืบเนื่องมาจากโควิด-19

วิธีแก้ปัญหาเบื้องต้นรัฐบาลต้องทำทีละเรื่อง ถ้าเป็นเรื่อง สุกร ต้องเปิดให้นำเข้าเสรี ซึ่งไม่ง่าย ถ้าเริ่มเปิดให้นำเข้าวันนี้ก็ต้องใช้เวลา การให้นำสินค้าข้างนอกเข้ามาจากแหล่ง ที่ไม่มีโรคระบาด เช่น ยุโรป อเมริกา จะช่วยผู้บริโภค ได้ดีขึ้น

โครงการคนละครึ่งไม่ต้องแจกแล้ว แต่ให้นำเงินส่วนนี้มาอุดหนุนการซื้อสินค้าโภคภัณฑ์บางชนิด แต่รัฐบาลคงอยากทำโครงการคนละครึ่งมากกว่า ดังนั้น การจัดการด้านอุปทาน จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำเฉพาะหน้าทันที

ปัญหาสุกร หากรัฐบาลตัดสินใจช้าการแก้ปัญหาก็ทำได้ช้าไปอีก จะบอกให้ไปกินอย่างอื่นนั้นไม่ถูกต้องเพราะรัฐบาลมีหน้าที่ต้องแก้ปัญหา ส่วนจะฟื้นผู้ประกอบการทั้งหมด รัฐบาลต้องทุ่มงบลงไป ไม่เช่นนั้น Supply Shock ทำให้เกิดปัญหาตามมาหลายเรื่อง

นอกจากนี้ ควรลดภาษีสรรพสามิต เพราะถ้าราคาน้ำมันลดลงเรื่องของ Supply Shock ก็ลดลงได้ เพราะน้ำมันเป็นต้นทางการผลิตสินค้า

ปัญหาราคาสินค้าแพงวันนี้ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปตามธรรมชาติ แต่เพราะรัฐบาลผิดพลาดอย่างแท้จริง ปล่อยปละละเลย ไม่ได้ติดตามอย่างจริงจัง ถามว่าผิดจากด้านไหน หากเป็นเรื่องสุกรก็ผิดตั้งแต่รมว.เกษตรฯ อธิบดีกรมปศุสัตว์ รวมถึงนายกฯ ด้วย ทั้ง 3 คนต้องรับผิดชอบ

หากเป็นประเทศญี่ปุ่นหรือประเทศที่เจริญแล้วต้องมีการลาออกจากตำแหน่ง เพราะถือเป็นเรื่องใหญ่มาก เนื่องจากไม่มีการบริหารราชการแผ่นดินเลย ทั้งที่รู้ว่าจะเกิดปัญหา ต้องเร่งแก้ปัญหาเฉพาะหน้าโดยการนำเข้าสุกร รมว.คลัง ต้องยกเลิกโครงการคนละครึ่ง เอาเงินมาแก้ปัญหาเรื่องสุกร ถ้าไม่นำเข้าจะเกิดปัญหาอีกหลายเดือน

เรื่องของแพงอาจทำให้รัฐบาลสั่นคลอนจนล้มได้ ฝ่ายค้านควรนำปัญหาเข้าสู่รัฐสภา เพื่อซักฟอก อย่างน้อยให้รัฐบาลได้ตอบว่าเหตุใดจึงปล่อยปละละเลย เมื่อซักฟอกแล้วรัฐบาลจะรับผิดชอบหรือไม่ ก็ไม่ทราบ แต่อย่างน้อยจะทำให้รัฐบาลหาวิธีแก้ปัญหา

ในส่วนรัฐบาล ขอแนะนำนายกฯ ไม่ต้องรอฝ่ายค้าน ให้รีบเปิดสภา เพื่อรับฟังฝ่ายค้านว่ามีข้อเสนออะไร ในการแก้ปัญหาสินค้าแทบทุกชนิดที่มีราคาแพง

อนุสรณ์ ธรรมใจ

นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์

ที่ราคาของในประเทศแพงขณะนี้ สาเหตุหลักคือเรื่อง Supply Shock และของแพงที่เกิดขึ้นล่าสุด กรณีเนื้อหมูเกิดจากโรคระบาด คือ ความต้องการของเนื้อหมูในประเทศหายออกไปจากตลาด เพราะเกิดจากโรคระบาด เนื่องจากกรมปศุสัตว์ไม่สามารถควบคุมโรคระบาดในหมูได้ เมื่อหลายปีก่อนสามารถควบคุมได้และไปเกิดในประเทศเพื่อนบ้าน

อันดับต่อมาเรื่องภัยแล้งก็เป็น Supply Shock เหมือนกัน ทำให้พืชผักผลไม้หายไปจากตลาดส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นสินค้าที่จำเป็น จึงทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้น ราคาอาหารแพงขึ้น ประชาชนก็เดือดร้อน ผู้ผลิตก็ไม่ได้อะไรเพราะราคาแพง จะขายก็ไม่มีของจะขาย

ประเด็นต่อมา เรื่องของราคาน้ำมันในตลาดโลกผันผวนมาก ซึ่งเป็นผลจากซัพพลาย (supply) มากกว่าดีมานด์ (Demand) เพราะเศรษฐกิจโลกฟื้นแต่ไม่ได้ฟื้นมาก จึงไม่สามารถดึงราคาน้ำมันให้สูงขึ้นได้ แต่ที่ราคาน้ำมันสูงเพราะโอเปกพลัสไม่ยอมเพิ่มกำลังการผลิตให้เข้าสู่ภาวะปกติ

ที่น่าเป็นห่วงประเทศไทย คือ สภาวะเงินเฟ้อสูง บวกกับเศรษฐกิจที่ชะลอตัวเพราะคนว่างงานสูง แต่ถ้าเงินเฟ้อสูงและเศรษฐกิจฟื้นก็จะไม่หนักหนาสาหัสมาก

เรื่องของแพงพรรคพลังประชารัฐกับพรรคประชาธิปัตย์ต้องรับผิดชอบร่วมกัน บางอย่างไม่สามารถบริหารจัดการตามนโยบาย ที่เป็นเรื่องเฉพาะหน้า อาทิ โรคระบาด แต่บางเรื่องเป็นเชิงโครงสร้าง โครงสร้างการตลาดและโครงการการผลิตของสินค้าบางตัวมีอำนาจผูกขาดอยู่

ต้องอาศัยการผ่าตัด ไม่ใช่อาศัยนโยบายธรรมดา ต้องอาศัยนโยบายเชิงปฏิรูปโครงการการตลาด โครงสร้างการผลิต ให้มีการแข่งขันที่เสรีมากขึ้น

คือ ต้องปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำได้ก็ต่อเมื่อมีพรรครัฐบาลที่มีเสียงข้างมาก และพรรคนั้นต้องมีนโยบายชัดเจนจะแก้ปัญหาการผูกขาดอำนาจทางเศรษฐกิจ

ไม่เป็นเช่นนั้นจะไม่สามารถทำได้ เพราะอำนาจทางเศรษฐกิจมันใหญ่

แล้วจะโทษกลุ่มทุนขนาดใหญ่ก็ไม่ได้ เพราะมีกติกาและระบบแบบนี้ เขาเป็นพ่อค้าต้องแสวงหาผลกำไร แต่ถ้าสร้างกติกาและระบบว่าถ้าทุกคนต้องทำตามกติกาแบบนี้ เขาก็ต้องเคารพกติกาอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นอยู่ที่รัฐบาล

แน่นอนปัญหาของแพงสะเทือนถึงเสถียรภาพของรัฐบาล เพราะเรื่องนี้กระทบชาวบ้าน คนไทยอดทนสูง ไม่ใช่นักต่อสู้เรียกร้องอะไรมาก ก็ไม่ถึงขั้นจะมีการเปลี่ยนแปลงถึงกับต้องลาออก

สำหรับทางออกเรื่องนี้ กรณีเนื้อหมูแพง เดี๋ยวจะดีขึ้นเองแต่จะไม่ดีมาก ถ้าโรคระบาดหยุด หมูที่เลี้ยงไม่ล้มตาย กลไกของเนื้อหมูก็จะเข้าสู่ตลาดตามปกติ หรือผ่านภัยแล้งไปสามารถปลูกพืชผักผลไม้ได้ตามปกติ ผลผลิตก็เข้าสู่กลไกตลาดได้

แต่สำคัญคือการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น ภัยแล้ง เกิดขึ้นทุกปี ทำไมไม่ทำระบบชลประทานให้ดี ต้องดูนโยบายระยะยาว ไม่ใช่ดูปัญหาปีต่อปี เรื่องหมูก็เช่นกัน ถ้าโรคระบาดหายไป ราคาหมูลดลง ซึ่งจริงๆ ราคาอาจลดลงกว่านี้ได้อีก ถ้าทำให้โครงสร้างของอุตสาหกรรมเลี้ยงหมูมีการผูกขาดน้อยลง โดยรักษาสมดุลระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภค

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน