กรณีของ นายราเมศ รัตนะเชวง สะท้อน “ปัญหา” ภายในพรรคประชาธิปัตย์เด่นชัด เหมือนกับเป็นปัญหาในการจัดสรรคนลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่ยิ่งฟังยิ่งทำให้เห็นถึงสภาพการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น “ภายใน” เป็นการปะทะระหว่าง “ใหม่” กับ “เก่า” เหมือนกับที่ได้แสดงออกมาแล้วอย่างอึกทึกครึกโครมระหว่างการเลือก นายเดชอิศม์ ขาวทอง กับ นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ขึ้นเป็น “รองหัวหน้าพรรค” เป็นการปะทะระหว่าง “กลุ่ม” ในทางความคิด การเมือง จะทำความเข้าใจ “ปัญหา” จำเป็นต้องมอง “กลุ่มคน” ที่ออกมาหนุนแต่ละคน นายเดชอิศม์ ขาวทอง ได้รับการสนับสนุนจาก นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรค ประสานเข้ากับ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค จึงกุม “ชัยชนะ” ไปอย่างที่ได้เห็นกัน แม้ว่าคนที่หนุน นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ จะเป็น นายชวน หลีกภัย นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรคมาก่อน ก็ตาม สะท้อนว่า “เก่า” ถูกรุกไล่โดย “ใหม่” แล้วใครกันเล่าที่ยืนอยู่เป็นเงาหลังให้กับ นายราเมศ รัตนะเชวง ทางการเมือง ตำแหน่งของ นายราเมศ รัตนะเชวง คือโฆษกพรรค แต่อีกตำแหน่งที่สำคัญก็คือ เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร นายชวน หลีกภัย นายชวน หลีกภัย จึงเป็นเงาหลังให้กับ นายราเมศ รัตนะเชวง กระนั้น โอกาสของ นายราเมศ รัตนะเชวง ก็ไม่ราบรื่นเนื่องจาก นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่เดิมมีคนของตนอยู่แล้ว พร้อมมูล จำเป็นที่ นายราเมศ รัตนะเชวง ต้องประกาศเจตจำนงของตน ไม่มีใครตอบได้ว่าบทสรุปต่อ นายราเมศ รัตนะเชวง จะออกมาในแนวทางใด กระนั้น ที่เด่นชัดเป็นอย่างมากก็คือ ภายในพรรคประชาธิปัตย์ได้มีการต่อสู้ 2 แนวทาง ปรากฏขึ้นอย่างเด่นชัดและรอวันแตกหัก นั่นก็คือ ระหว่าง “ใหม่” กับ “เก่า”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน