จังหวะก้าวของ นายสกลธี ภัททิยกุล สร้าง “คำถาม” ตามมามากมายในทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก่อนตัดสินใจยื่นใบลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ รวมถึงการยื่นใบลาออกจากตำแหน่ง “รอง ผู้ว่าฯกทม.” ก่อนครม.มีมติเห็นชอบกำหนดรายละเอียดการเลือกตั้ง “ผู้ว่าฯกทม.” และ “นายกเมืองพัทยา” ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งไปดำเนินการ ก่อนพรรคพลังประชารัฐมีมติไม่ส่งคนชิง “ผู้ว่าฯกทม.” เส้นทางของ นายสกลธี ภัททิยกุล จึงเป็นเส้นทางเดียวกับ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ นั่นก็คือ เส้นทางของการลงสมัครในนาม “อิสระ” นั่นก็คือ ไม่ลงในนามของพรรคพลังประชารัฐ นั่นก็คือ ไม่ลงในนามของพรรคเพื่อไทย เป็นการลงอิสระโดยไม่ส่งคนลงสมัคร “ส.ก.” ขณะเดียวกัน พรรคเพื่อไทยยืนยันที่จะส่งตัวแทนลงชิงตำแหน่งส.ก.ครบทั้ง 50 เขต พรรคพลังประชารัฐก็จะส่งลงชิงตำแหน่งส.ก.ครบทั้ง 50 เขต นี่คือการตระเตรียมของ พรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ องค์ประกอบอันเป็นรากฐานของ นายสกลธี ภัททิยกุล จึงดำเนินไปอย่างคึกคักหนักแน่น ในเชิงเปรียบเทียบ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อาจเคยดำรงอยู่ในสถานะแห่งแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย แต่ ณ วันนี้ ไม่มีอะไรเกี่ยวกับพรรคเพื่อไทยแล้ว กระนั้น นายสกลธี ภัททิยกุล ก็เคยเป็นส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เป็นแกนนำกปปส. เป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ เป็นรองผู้ว่าฯกทม.ภายใต้มาตรา 44 นั่นย่อมแตะไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ด้วย การผงาดขึ้นมาของ นายสกลธี ภัททิยกุล จึงดำรงอยู่อย่างโดดเด่นและได้เปรียบ ไม่ว่ามองไปยัง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ไม่ว่ามองไปยัง นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ไม่ว่ามองไปยัง นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ไม่ว่ามองไปยัง น.ส.รสนา โตสิตระกูล ถามว่าจุดได้เปรียบนี้จะแข็งแกร่งมั่นคงเพียงใด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน