การเลือกตั้ง “ผู้ว่าฯ กทม.”และ “นายกเมืองพัทยา” ในวันที่ 22 พฤษภาคม สำคัญ

สำคัญไม่เพียงเป็นวันที่ 22 พฤษภาคม ซึ่งตรงกับสถานการณ์ยึดอำนาจโดยวิธีการ “รัฐประหาร” ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เมื่อ 8 ปีก่อนเท่านั้น

หากเท่ากับเป็นการตอกย้ำถึง “ฤทธิ์” แห่ง “รัฐประหาร”

เมื่อมองไปยังอำนาจที่มายึดครองตำแหน่ง “ผู้ว่าฯ กทม.” เมื่อมองไปยังอำนาจที่ยึดครองตำแหน่ง “นายกเมืองพัทยา”

ล้วนสัมพันธ์กับอำนาจ “รัฐประหาร” โดย “คสช.”

ไม่ว่าการตัดสินใจเลือกเอาวันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคมเป็นวันเลือกตั้งจะมาอย่างไร

จะมาเพราะเป็น “ไฟต์บังคับ” เนื่องจากจำเป็นต้องเลือกวันอาทิตย์ระหว่าง วันอาทิตย์ที่ 15 พฤษภาคม กับวันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม

เมื่อต้องเลือกวันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม ก็ช่วยไม่ได้

ดีเสียอีกเท่ากับเป็นการเช็ก “เรตติ้ง” ไปโดยปริยายว่าชาวบ้านมีความรู้สึกและยอมรับต่อผลสะเทือนจากอำนาจของ “รัฐประหาร” อย่างไร

เป็นไปในทาง “บวก” หรือเป็นไปในทาง “ลบ”

บรรยากาศของการหาเสียงจึงเลี่ยงไม่พ้นไปจาก 22 พฤษภาคม วัน “รัฐประหาร”

เมื่อมองไปยังเมืองพัทยาก็ประจักษ์ในการมาของ “บ้านใหญ่” เมื่อมองไปยังศาลาว่าการกรุงเทพมหา นครก็ประจักษ์ในการมาของ “อัศวิน” และ “สกลธี”

ล้วนเป็นผลพวงอันเนื่องแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

การตัดสินใจเลือกใครเป็น “นายกเมืองพัทยา” การตัดสินใจเลือกใครเป็น “ผู้ว่าฯ กทม.” จึงมีภาพของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลอยเด่นขึ้นมา

ในฐานะที่เป็นหัวหน้าคสช. เป็นผู้ลงมือทำ “รัฐประหาร”

ไม่ว่าตำแหน่ง “นายกเมืองพัทยา” ไม่ว่าตำแหน่ง “ผู้ว่าฯ กทม.” ล้วนเป็นเรื่องการเมือง

เป็นการเมืองไม่เพียงเพราะต้องผ่านอำนาจและการตัดสินใจเลือกของประชาชน หากแต่สถานการณ์ได้นำไปสู่การเปรียบเทียบอย่างแหลมคม

ระหว่างอำนาจ “ประชาชน” กับอำนาจ “เผด็จการ”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน