การเสนอประเด็น “โอเวอร์ พีอาร์” ก็เหมือนกับกรณี “ลัทธิบูชาตัวบุคคล”

เด่นชัดยิ่งว่าเป็นการเสนอขึ้นจากคะแนนกว่า 1.3 ล้าน และเป็นการเสนอขึ้นจากภาพและการเคลื่อนไหวของ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์

ไม่ว่าเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ไม่ว่าเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน

เพียงเวลา 20 กว่าวันภายหลังการได้รับเลือกจากประชาชน บทบาทของ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้ก่อผลสะเทือนอย่างลึกซึ้งและกว้างขวาง

ไม่ว่าในทาง “ความคิด” ไม่ว่าในทาง “การเมือง”

กล่าวในทาง “ความคิด” ได้ก่อให้เกิดความขัดแย้งประสานกับความชื่นชมยินดี

ภาพของ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ดำเนินไปเหมือนกับกระแส “ฟ้ารักพ่อ” อันเคยปรากฏผ่านความนิยมต่อ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

ไม่ว่าจะไปที่ใด คนล้วนอยาก “ถ่ายรูป” ด้วย

ความนิยมชมชอบจากภาพลักษณ์และความเคลื่อนไหวนั้นเองคือรากฐานแห่งคะแนนกว่า 1.3 ล้านและกลายเป็นชัยชนะอย่างขาวสะอาด

ความนิยมนี้เองคือพื้นฐานต่อทุกปฏิบัติทางการเมือง

ความคิดที่แตกต่างต่อ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ มาจาก “ทำงาน ทำงาน ทำงาน”

คำถามก็คือ เหตุใดกระบวนการ “ทำงาน ทำงาน ทำงาน” ของ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ จึงได้กลายเป็นปัญหานำไปสู่มุมมอง “พีอาร์” ไปสู่มุมมอง “บูชาตัวบุคคล”

นั่นก็เนื่องมาจากการเปรียบเทียบในทางการเมือง

เริ่มจากเปรียบเทียบกับ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ในตำแหน่ง “ผู้ว่าฯ กทม.” ขยายไปสู่การเปรียบเทียบกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ก่อให้เกิดคำถามหาก นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เป็นนายกรัฐมนตรี

ไม่ว่าบทบาทของ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ แตะไปที่ใด ล้วนนำไปสู่ “คำถาม” ตามมา

ด้านหนึ่ง เป็นคำถามต่อความชื่นชมในเส้นทาง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ด้านหนึ่ง เป็นคำถามถึงคนที่สัมพันธ์ใกล้ชิดและห่างจากตัว นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์

ถามว่าใครกำลังเดือดร้อนจาก นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ กันแน่

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน