พลันที่ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ แตะไปยัง “กรุงเทพมาราธอน” ก็เป็น“ทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์”

ทุกอย่างก็ดำเนินไปในแบบ “ดนตรีในสวน” ทุกอย่างก็ดำเนินไปในแบบ “กรุงเทพกลางแปลง” นั่นก็คือ เป็นงานใหญ่

กลายเป็นจุดเร้าความสนใจเป็นอย่างสูง

ที่เป็นเช่นนี้มิใช่เพราะความเป็นคนดังอยู่ในกระแสของ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ หากแต่อยู่ที่ “กึ๋น” หากแต่อยู่ที่ความเข้าใจใน “กระบวนการ”

บนพื้นฐานแห่ง ทำงาน ทำงาน ทำงาน

ยอมรับเถิดว่าไม่ว่า “ดนตรีในสวน” ไม่ว่า “กรุงเทพกลางแปลง” มิใช่เพิ่งเกิดขึ้น มีขึ้น

ตรงกันข้าม “ดนตรีในสวน” เป็นความริเริ่มและต่อเนื่องจาก “สังคีตศาลา” ตรงกันข้าม “กรุงเทพกลางแปลง” เป็นงานที่อยู่ในกระแสทุกเดือนสิงหาคม เดือนธันวาคม

และความริเริ่มก็มิได้มาจาก นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์








Advertisement

เพียงแต่เมื่อทีมทำงาน ทำงาน ทำงาน เข้าไปมีส่วนร่วม งานเล็กๆ อย่าง “ดนตรีในสวน” ก็เป็นงานใหญ่อย่าง “กรุงเทพกลางแปลง” ก็อึกทึกครึกโครม

กลายเป็นจุดสนใจ กลายเป็นทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์

ในความเป็นจริง “กรุงเทพมาราธอน” เป็นงานของสมาคมนักวิ่งเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย

แต่เดิมก็เป็นงานที่สมาคมนักวิ่งเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยจัดร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยอยู่แล้วเป็นเวลา 30 กว่าปี

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ได้เชิญ “กทม.” เข้าร่วม

ในเมื่อเป็นกทม.ยุค นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เท่านั้นแหละ งาน “กรุงเทพมาราธอน” ก็พร้อมจะขยายเป็นงานระดับ “นานาชาติ”

เป้าหมาย คือจะระดมคนร่วม 90,000 เข้าร่วม

ลองนึกวาดภาพว่าคน “เรือนหมื่น” ที่เข้าร่วมใน “กรุงเทพมาราธอน” จะเป็นอย่างไร

นี่ย่อมมิได้มีแต่ “คนไทย” เท่านั้น หากแต่จะขยายกรอบขอบเขตกลายเป็นการวิ่งมาราธอนในระดับ “นานาชาติ” ขึ้นมาทันที

นี่ย่อมเท่ากับเป็นการ “โฆษณา” ประเทศผ่าน “กิจกรรม” อย่างแหลมคม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน