การดำรงอยู่ระหว่าง “ราชสีห์” กับ “หนู” ดำเนินไปในลักษณะ 2 ด้านอันสัมพันธ์กัน

ด้านหนึ่ง พลานุภาพแห่งราชสีห์ก่อให้เกิดภัยคุกคามต่อหนู ซึ่งมีอำนาจน้อยกว่า พละกำลังอ่อนด้อยกว่าอย่างเห็นได้ชัด

ไม่ว่าด้วย “รูปร่าง” ไม่ว่าด้วย “เสียง”

จึงไม่แปลกที่ราชสีห์สามารถคำรามและตะครุบหนูไว้ในกรงเล็บอย่างไม่ยากเย็น กระทั่งหนูต้องอ้อนวอนร้องขอชีวิต

นี่ย่อมเป็น “บุญคุณ” อันราชสีห์มีต่อหนู

กระนั้น สถานการณ์ก็ก่อให้เกิดการแปรเปลี่ยนในบุญคุณและความแค้นที่ดำรงอยู่

ในเมื่อวันหนึ่ง ราชสีห์ชะล่าใจตกไปอยู่ในกับดักแห่ง “บ่วง” อันนายพรานจัดวางเอาไว้อย่างแยบยล เมื่อใดนายพรานมาถึงหายนะก็จะบังเกิด

ยามนี้แหละที่ “หนู” เล่นบทช่วย “ราชสีห์”

เนื่องจากหนูมีฟันอันแหลมคมและสามารถกัดกร่อนบ่วงที่นายพรานวางเป็นกับดักขาดสะบั้น ราชสีห์จึงเป็นอิสระอีกครั้งส่งเสียงคำรามร้องได้

นี่แหละคือรากฐานแห่ง “หนู” ช่วย “ราชสีห์”

ถามว่าราชสีห์ตระหนักในบุญคุณของหนูหรือไม่ หนูรับรู้บุญคุณของตนหรือไม่

ตามเนื้อความแห่งนิทานอีสป ราชสีห์สำนึกในบุญคุณและความสามารถของหนูได้เป็นอย่างดีหนูเองก็รับรู้ในโอกาสอันดีนี้ของตนเป็นอย่างดี

ต่างก็ปฏิบัติอยู่ในกรอบแห่ง “สำนึก” อย่างเหมาะสม

ราชสีห์เอ่ยปากขอบคุณและสามารถเท้าความคุณูปการของหนูได้ แต่ขณะเดียวกัน หนูอาจรับฟังด้วยยินดี แต่ก็มิอาจหลงเพริศคุยโวโอ้อวดตามไปด้วย

หากเผลอคุยโวเมื่อใด “อันตราย” ก็จะมาถึงตัว

ภายในแวดวงการเมือง ลักษณะการเอื้ออวยระหว่างราชสีห์กับหนูมีรูปธรรมไม่น้อย

ไม่ว่าต่อ “ประยุทธ์” ไม่ว่าต่อ “ประวิตร” เพียงแต่ “หนู” จะวางตัวอย่างไร วางตัวอย่างสงบ รอคอยให้ “ราชสีห์”เป็นคนออกปากยกย่องชมเชยเอง

หรือว่าพร่ำพูด “บุญคุณ” ของตัวในลักษณะ “ลำเลิก”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน