การดำรงอยู่ของ “พรรคก้าวไกล” สร้างความไม่แน่นอนในทางการเมืองให้บังเกิด

ยิ่งการปรากฏตัวของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และ นายปิยบุตร แสงกนกกุล ตลอดจน น.ส.พรรณิการ์ วานิช ยิ่งกลายเป็น “คำถาม”

ไม่เพียงในเรื่อง “ความขยัน” และ “เอาการเอางาน”

หากที่สำคัญและแหลมคมเป็นอย่างมากยังทำให้ “ความไม่แน่นอน” จากเมื่อเดือนมีนาคม 2562 ได้ต่อเนื่องมายังเดือนพฤษภาคม 2566

บรรดา “เกจิการเมือง” ต้องเพิ่มความระมัดระวัง

ถามว่ากระบวนการวิเคราะห์ สังเคราะห์ ประเมินผลดำเนินไปบนพื้นฐานอะไร

คำตอบแรกก็คือ ดำเนินไปบนพื้นฐานการเลือกตั้งใน “อดีต” และสำหรับในเดือนพฤษภาคม 2566 อาจคำนึงถึงเมื่อเดือนมีนาคม 2562

แต่เมื่อเดือนมีนาคม 2562 กับเมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 ก็ไม่เหมือนกัน








Advertisement

ไม่เหมือน 1 เพราะพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ มีพรรคก้าวไกลเข้ามาแทนที่ ไม่เหมือน 1 เพราะพรรคก้าวไกลแตกต่างไปจากพรรคอนาคตใหม่

จุด “ต่าง” จากพรรคก้าวไกลนั่นแหละคือ “ตัวแปร”

ลักษณะพิเศษของพรรคอนาคตใหม่ต่อเนื่องมายังพรรคก้าวไกลครบถ้วน

เมื่อทั้ง นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ทั้ง นายปิยบุตร แสงกนกกุล ทั้ง น.ส.พรรณิการ์ วานิช มาดำรงอยู่ในฐานะ “ผู้ช่วยหาเสียง”

ยิ่งทำให้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ มากด้วยความมั่นใจ

ขณะเดียวกัน พรรคอนาคตใหม่มีการเตรียมตัวเพียงไม่กี่เดือน แต่พรรคก้าวไกลมีการเตรียมตัวเป็นเวลาถึง 4 ปี

ทั้งยังมี “ผลงาน” โดดเด่นบนเวที “รัฐสภา”

วิถีพรรคอนาคตใหม่ที่สืบทอดมาโดย นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ นั่นแหละที่สำคัญ

เนื่องจากเป็นวิถีอัน “ต่าง” ไปจากทุกพรรคการเมือง และดำเนินไปโดยยังไม่สามารถ “วัดผล” ได้อย่างเป็น “รูปธรรม”

จึงดำรงอยู่ในจุดอันเป็น “ตัวแปร” ทางการเมือง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน