ภายในการสำแดง “ปฏิกิริยา” สิ่งที่ตามมาเด่นชัดว่าเป็นการต่อรองทางการเมือง

ตัวอย่างสดๆ ร้อนๆ ก็คือ ปฏิกิริยาต่อตำแหน่ง “ประธานสภา” แล้วก็ตามมาด้วยข้อเสนอในเรื่องตำแหน่ง “รองประธานสภา”

ดำเนินไปในแบบ “ชิง” ความได้เปรียบทาง “การเมือง”

กระทั่ง บางนักการเมืองซึ่งคร่ำหวอดเป็นอย่างสูง เมื่อเรียกร้องตำแหน่ง “ประธานสภา” ก็มีข้อเสนอสำรองเพื่อการแลกเปลี่ยนดำรงอยู่

หากได้ 3 ตำแหน่ง “รัฐมนตรี” ก็จะยินดีอย่างยิ่ง

ปรากฏการณ์ “ต่อรอง” เช่นนี้ในอดีต คือ บรรยากาศที่ธรรมดายิ่งในทางการเมือง

ไม่ว่าในยุคที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ จัดตั้งรัฐบาลก็เป็นอย่างนี้ ไม่ว่าจะมาจากพรรคกิจสังคม ไม่ว่าจะมาจากพรรคประชาธิปัตย์

เมื่อเข้าสู่ยุค นายบรรหาร ศิลปอาชา ก็เป็นอย่างนี้

ที่ นายทักษิณ ชินวัตร เคยระบุว่า ใครมี ส.ส.อยู่ในมือก็พร้อมที่จะเข้าไปต่อรองกับหัวหน้าพรรค ต่อรองกับนายกรัฐมนตรี เพราะหมายถึงพลัง

“ต่อรอง” ที นายกรัฐมนตรีก็ “เหงื่อแตก” ที

ถามว่าเหตุใดในสถานการณ์หลังเดือนพฤษภาคม 2566 จึงกลายเป็นเรื่องแปลก

แปลกเมื่อได้ยินเสียงต่อรองดังมาจาก นายภูมิธรรม เวชยชัย แปลกเมื่อได้ยินเสียงต่อรองดังมาจาก นายอดิศร เพียงเกษ

ทั้งๆ ที่ท่านเหล่านี้ล้วนเรียกตนเองว่า “คนเดือนตุลา”

คำตอบหนึ่งอาจจะเนื่องจากการดำรงอยู่ของพรรคอนาคตใหม่ การดำรงอยู่ของพรรคก้าวไกล และการปรากฏขึ้นของ “บันทึกช่วยจำ”

นั่นคือนวัตกรรมอันเป็น “สันปันน้ำ” อย่างสำคัญ

กระบวนการทางการเมืองจึงเป็นทั้ง “บทเรียน” และเป็น “หลักคิด” เปรียบเทียบ

เปรียบเทียบให้เห็นยุคของพรรคประชาธิปัตย์ ยุคของพรรคกิจสังคม ยุคของพรรคชาติไทย ยุคของพรรคพลังธรรม ยุคของพรรคไทยรักไทย

รวมถึงยุคของพรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน