มติพรรคเพื่อไทยที่มาดหมายต่อตำแหน่ง “ประธานสภา” กลายเป็นความร้อนแรง

ไม่เพียงแต่สังคมจะตั้งคำถามต่อพรรคเพื่อไทย หากยังตั้งคำถามว่าพรรคก้าวไกลจะรับมือกับความต้องการนี้ของพรรคเพื่อไทยอย่างไร

แปลกที่มิได้เป็นการถอย หรือว่า “ตั้งหลัก”

ถอยในที่นี้ก็คือ แสดงความโอนอ่อนผ่อนตามไปกับความต้องการของพรรคเพื่อไทย หรือว่าอย่างน้อยก็หาทางต่อรองเพื่อหาบทสรุป

ตรงกันข้าม พรรคก้าวไกลกลับ “พุ่งชน”

การพุ่งชนแรกสุด คือ การประกาศชื่อ นายปดิพัทธ์ สันติภาดา เข้าชิงชัย

ที่เคยมีข่าวว่าพรรคก้าวไกลมี นายณัฐวุฒิ บัวประทุม มี นายธีรัจชัย พันธุมาศ มี นายพริษฐ์ วัชรสินธุ มี นายปดิพัทธ์ สันติภาดา เป็นตัวเลือก

ก็มีมติส่ง นายปดิพัทธ์ สันติภาดา เข้าชิงตำแหน่ง “ประธานสภา”

ขณะเดียวกัน กำหนดเดิมที่ว่าพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกลจะหารือกันในวันที่ 28 มิถุนายน พรรคก้าวไกลก็ประกาศเลื่อนออกไป

ทั้งยังเลื่อนอย่างไม่มี “กำหนด” อีกด้วย

ทั้งๆ ที่เด่นชัดว่ายากจะสู้กับความต้องการของพรรคเพื่อไทยได้ ไฉนจึงยังเดินหน้า

เพราะไม่ว่า นายจาตุรนต์ ฉายแสง เพราะไม่ว่า นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ต่างมองตรงกันว่าหากปล่อยให้ขัดแย้งในตำแหน่ง “ประธานสภา”

โอกาสของพรรคก้าวไกล มีน้อยกว่าของพรรคเพื่อไทย

อย่างน้อยพรรคเพื่อไทยก็มีประสบการณ์ความจัดเจนมากกว่า มีมิตรทางการเมืองแม้กระทั่งในพรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย

ถามว่าเหตุใดพรรคก้าวไกลจึงดึงดัน

บทสรุปต่อพรรคก้าวไกลจึงไม่มีอะไรซับซ้อนมากไปกว่า อ่อนหัดและไร้เดียงสา

อ่อนหัดและไร้เดียงสาเหมือนกับเดินเข้าสู่เลือกตั้งเดือนมีนาคม 2562 อ่อนหัดและไร้เดียงสาเหมือนเดินเข้าสู่เลือกตั้งเดือนพฤษภาคม 2566

ทั้งๆ ที่สะท้อนความ “ไร้กระบวนท่า” อย่างเด่นชัด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน