บทบาทของ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ ผูกติดอยู่กับเหตุการณ์พฤษภาคม 2553 แนบแน่น

เพราะการดำรงตำแหน่ง “อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ” ดำเนินอย่างต่อเนื่องจากรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ถึงรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

มองจากมุมของ “ข้าราชการ” เหมือนกับอยู่ระหว่าง “เขาควาย”

ในรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อยู่ในฐานะ “ร่วมปราบ” ในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อยู่ในฐานะดำเนินคดี 99 ศพอันเป็นผลจากการปราบ

ตรงนี้แหละทำให้กุม “ความลับ” ในลักษณะ “ปฐมภูมิ”

ชะตากรรมของ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ จึงดำเนินไปในท่ามกลางความขัดแย้ง

เนื่องจากแม้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะอยู่ในต่างประเทศ แต่ทุก“ตัวละคร”จากการล้อมปราบเดือนเมษายน พฤษภาคม 2553 ก็ยังอยู่ครบถ้วน

ไม่ว่าจะ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่ว่าจะ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ

ไม่ว่าจะ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ไม่ว่าจะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งมีบทบาทอยู่ในกองทัพบก

ล้วนมีโอกาสเป็น “โจทก์” และเป็น “จำเลย”

การออกมาเปิดโปงของ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ จึงดำเนินไปในแบบ “หน้าสิ่ว หน้าขวาน”

เป็นห้วงเวลาที่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อาจกบดาน เป็นห้วงเวลาที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อาจหวนสู่ตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

เช่นเดียวกับ “ลุงตู่” เช่นเดียวกับ “ลุงป้อม”

ที่สำคัญ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ มิได้มาคนเดียวหากมาพร้อมกับญาติผู้เสียชีวิตจากการถูกล้อมปราบในเดือนเมษายน พฤษภาคม 2553

จึงเห็นเงาร่าง นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ยืนอยู่อย่างชนิดจังก้า

การเคลื่อนไหวของ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อยู่ในห้วงเวลาอันร้อนแรง คมแหลม

เป็นห้วงเวลาที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กำลังกล่าวคำอำลา เป็นห้วงเวลาที่ พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย กำชัยจากการเลือกตั้ง

และมีโอกาสดำรงอยู่ในสถานะแห่ง “รัฐบาล”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน