คำประกาศนัดชุมนุมของ นายอานนท์ นำภา มีผลสะเทือนอย่างน่าติดตาม

เป็นการประกาศหลังจากการเห็นการรุกคืบของ “กกต.” ต่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ นัดหมาย “ประชาชน” ไปรวมตัวกันที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรม ปทุมวัน

ทุกอย่างดำเนินอย่างเป็น “ธรรมชาติ” เป็นไปเอง

ไม่มีการจัดตั้งในรูปของ “องค์กร” ทางการเมือง เพียงแต่อาศัย “เครดิต” อันได้มาจากอดีตแห่งการเคลื่อนไหวเมื่อปี 2563 มาเป็นหลักประกัน

เท่ากับเป็นการก่อรูปอีกครั้งหนึ่งของการเคลื่อนไหวมวลชน

ต้องยอมรับว่าการเคลื่อนไหวของ นายอานนท์ นำภา เป็นธรรมชาติ เป็นไปเอง

ความน่าสนใจอยู่ตรงที่ความคิดในแบบของ นายอานนท์ นำภา มิได้เกิดขึ้นอย่างโดดเดี่ยว ตรงกันข้าม มีคนที่ใจตรงกันอีกมากมาย

ไม่ว่าจะเป็นที่นครราชสีมา ไม่ว่าจะเป็นที่ลำปาง








Advertisement

อาจมองว่าเป็นเครือข่ายของ “พรรคก้าวไกล” กระนั้น ก็ต้องยอมรับว่ามีรากฐานมาอย่างเดียวกับกรณีของ นายอานนท์ นำภา

นั่นก็คือ มีแรงดาลใจจากการเคลื่อนไหวในปี 2563

หลายคนเกิดนัยประหวัดไปยังการเคลื่อนไหวเมื่อเดือนตุลาคม 2516

เพียงแต่เมื่อ 50 ปีก่อนเป็นการเคลื่อนไหวจากความไม่พอใจต่อระบอบถนอม ประภาส ที่จับกุมกลุ่มซึ่งเรียกร้องต้องการ “รัฐธรรมนูญ”

แต่คราวนี้เพราะหงุดหงิดจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

เป็นความหงุดหงิดที่กลไกอันเนื่องแต่ “รัฐประหาร” มีบทบาทในการสกัดขัดขวางต่อชัยชนะในทางการเมืองของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์

ไม่ยอมให้ได้เป็น “นายกรัฐมนตรี”

ความละเอียดอ่อนอยู่ตรงที่รากฐานของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ คือการเลือกตั้ง

เป็นการเลือกตั้งที่มีคนกว่า 14 ล้านคะแนนเสียงให้ความเห็นชอบ เมื่อรวมกับพันธมิตรเช่นพรรคเพื่อไทยก็ได้กว่า 25 ล้านคะแนนเสียง

ทำไมจึงไม่ยอมให้ได้เป็น “นายกรัฐมนตรี” ตามเจตจำนง “ประชาชน”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน