การดำรงอยู่ใน “ตำแหน่ง” ทางการเมืองของ นายปดิพัทธ์ สันติภาดา เป็น “คำถาม”

ไม่เพียงเป็นคำถามจาก “พรรคเพื่อไทย” หากแต่ยังเป็นคำถามจากหลายพรรคการเมือง ไม่ว่าจะจากพรรครวมไทยสร้างชาติ ไม่ว่าจะจากพรรคประชาธิปัตย์

เนื่องจากเป็น “รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1”

เนื่องจากในความเป็นจริง นายชัยธวัช ตุลาธน จะไม่สามารถเป็น “ผู้นำฝ่ายค้าน” ได้หาก นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ยังเป็น “รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1”

เพราะ “รัฐธรรมนูญ” และ “ข้อบังคับสภา” ไม่ยินยอม

เด่นชัดอย่างยิ่งว่าพรรคก้าวไกลต้องการได้ตำแหน่ง “ผู้นำฝ่ายค้าน” มายึดครอง

เพราะต้องการได้ตำแหน่ง “ผู้นำฝ่ายค้าน” นั้นเอง พรรคก้าวไกลจึงต้องประชุมใหญ่วิสามัญประจำปี 2566 เพื่อเปลี่ยน “หัวหน้าพรรค”

จาก นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็น นายชัยธวัช ตุลาธน








Advertisement

เพราะ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ถูกพักการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะ “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” การเป็น “หัวหน้าพรรค” จึงไร้ความหมาย

การมาของ นายชัยธวัช ตุลาธน จึงเท่ากับบีบ นายปดิพัทธ์ สันติภาดา

คำถามอยู่ที่ความต้องการของ นายปดิพัทธ์ สันติภาดา อยู่ตรงไหน

อยู่ตรงที่เห็นชอบกับ “มติพรรค” ที่เห็นความจำเป็นที่ นายชัยธวัช ตุลาธน จะต้องเข้าดำรงตำแหน่งเป็น “ผู้นำฝ่ายค้าน”

หากเห็นชอบเช่นนั้นก็ต้องออกจากตำแหน่ง “รองประธาน”

ขณะเดียวกัน หาก นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ยังต้องการอยู่ในตำแหน่ง “รองประธานสภา” ก็ต้องสวนกับมติพรรคแล้วเลือกหนทางให้ถูก “ขับออก”

เมื่อถูกขับออกและไปอยู่พรรคอื่นจึงสามารถเป็น “รองประธาน“ ได้

ทางเลือกที่จะอยู่ในตำแหน่ง “รองประธาน” ก่อให้เกิด “คำถาม” แหลมคมทางการเมือง

เป็นคำถามที่ว่าพรรคก้าวไกลคิดอย่างไร เป็นคำถามที่ว่า นายปดิพัทธ์ สันติภาดา คิดอย่างไร แย้งกับแนวทางของการเมือง “ใหม่” หรือไม่

ปมอยู่ที่การตีความการเมือง “ใหม่” ว่าเป็นอย่างไร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน