ไม่ว่ากรณี “ประชามติ” ไม่ว่ากรณี “การร่างรัฐธรรมนูญ” สะท้อนปัญหาเดิม

ยิ่งลงลึกไปในแต่ละรายละเอียดก็จะประจักษ์อย่างเด่นชัดว่าเป็นปัญหาอันสืบเนื่องมาจาก “โจทย์” ซึ่งเกิดขึ้นในห้วงการจัดรัฐบาล

เพียงแต่ตอนนั้นอ้างประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

เพราะเงื่อนไขของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 พรรคการเมืองและรวมถึง 250 สว.จึงต้องปฏิเสธบทบาทของพรรคก้าวไกลในการจัดตั้งรัฐบาล

เพียงแต่ครานี้เป็น “ประชามติ” เป็น “รัฐธรรมนูญ”

จําเป็นต้องศึกษา “กระบวนท่า” ของรัฐบาล และของพรรคเพื่อไทย เป็นพิเศษ

หากไม่ศึกษาอย่างเป็นพิเศษก็ยากเป็นอย่างยิ่งที่จะเข้าใจในความจำเป็นอย่างเป็นพิเศษ ภายใต้โครงสร้างแห่ง “รัฐบาลพิเศษ”

เรื่องนี้จึงต้องอยู่ในมือของ นายภูมิธรรม เวชยชัย








Advertisement

เรื่องนี้จึงต้องมองเข้าไปภายใน “องค์ประกอบ” อันก่อรูปขึ้นจากพรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคพลังประชารัฐ พรรคชาติไทยพัฒนา

ความหวาดกลัวต่อ “พรรคก้าวไกล” ยังคงอยู่เหนียวแน่น

ความหวาดกลัวนั้นเองทำให้ “โครงสร้าง” ของ “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” ยอกย้อน

เป็นความหวาดกลัวจากชัยชนะของพรรคก้าวไกลในเดือนพฤษภาคม 2566 บนฐานที่เป็นจริงกว่า 14 ล้านเสียง และจำนวน 151 สส.ที่มีอยู่ในมือ

ลองวาดภาพ “การเลือกตั้ง” สมาชิก “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” จะออกมาอย่างไร

ยิ่งกระบวนการ “จัดการ” ต่อพรรคก้าวไกลตั้งแต่มี MOU เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม การเลือกประธานสภา และการฉีก MOU ยิ่งแหลมคม

แหลมคมอันทำให้ “คะแนนสงสาร” เทไปยังพรรคก้าวไกล ยิ่งหวาดเสียว

จากนี้จึงเห็นอย่างเด่นชัดว่าที่รังเกียจต่อพรรคก้าวไกลมี “มูลเชื้อ” อะไรที่สำคัญ

ข้ออ้างในเรื่องประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อาจเป็นปัจจัยหนึ่ง แต่ที่สำคัญมากกว่าคือความสยดสยองที่จะต้องพ่ายแพ้ต่อพรรคก้าวไกลอย่างต่อเนื่อง

ปม “รัฐธรรมนูญ” จึงเป็นอีกปัจจัยอันมากด้วยความแหลมคม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน