นักการเมือง นักพูด ที่เริ่มต้นจาก “ความรุนแรง” อัตรา “ความรุนแรง” จะยิ่งเพิ่มขึ้น

ที่เห็นได้ชัดก็คือ ความรุนแรงอันสำแดงผ่าน “การพูด” ไม่ว่าจะเป็นการอภิปราย ไม่ว่าจะเป็นการปราศรัย ณ เบื้องหน้าของประชาชน

เรือนร้อยก็อย่างหนึ่ง เรือนหมื่นก็อย่างหนึ่ง เรือนแสนก็อีกอย่างหนึ่ง

หากไม่เติมความรุนแรงก็ไม่สามารถสร้างความพึงพอใจให้กับประชาชนที่เข้ามารับฟังได้ ยิ่งต้องการเสียงโห่ร้องยิ่งต้องเพิ่มความดุเดือดในโวหาร

ที่รุนแรงน้อยๆ ก็ค่อยๆ เพิ่มอัตราเป็นรุนแรงมากๆ

ความเป็นจริงนี้ไม่ว่านักการเมืองรุ่นเก๋า ไม่ว่านักการเมืองรุ่นใหม่ รับรู้มาโดยตน

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช สอนไว้ว่า ไม่ว่าเมื่ออภิปราย ไม่ว่าเมื่อปาฐกถา ไม่ว่าเมื่อปราศรัย ต้องมี “เป้าหมาย” ณ เบื้องหน้าเป็นเกณฑ์วัด

วัดความไม่สบอารมณ์ วัดความพึงพอใจ

ในตอนต้นคนพูดก็ดำรงอยู่เหมือนกับเป็นคนกำหนด แต่เมื่อผ่านไปอารมณ์ของคนฟังที่อยู่รอบข้างนั่นแหละจะเป็นฝ่ายกำหนดและบงการ

หากต้องการเสียงหัวร่อ หากต้องการเสียงชโยโห่ร้อง

การแปรเปลี่ยนจากฝ่ายตั้งรับเป็นฝ่ายกำหนดนั่นแหละคือปัจจัยอันล่อแหลม

ถามว่าทำไมนักการเมืองจึงกล้าอุปมาคนที่ทำรัฐประหารว่าเป็นเหมือนกับสัตว์เดรัจฉาน ไม่สามารถที่จะร่วมสังฆกรรมได้ ต้องด่าและขับไล่อย่างเดียว

คำตอบย่อมอยู่ที่ “อารมณ์” ของประชาชนที่มารับฟัง

เมื่อเป็นประชาชนที่ไม่พอใจต่อ “รัฐประหาร” เพราะเป็นการรัฐประหารซึ่งโค่นล้มนายกรัฐมนตรีที่เขารัก เขาศรัทธา ความไม่พอใจจึงสูงอย่างยิ่ง

สูงกระทั่ง “นักการเมือง” ต้องใช้คำพูดที่รุนแรงออกไป

ไม่ว่าอัตราแห่งคำพูดที่รุนแรง คำพูดที่เป็นคำหยาบซึ่งเพิ่มอัตรารุนแรงเป็นทวีคูณ

ไม่ว่านักการเมือง ไม่ว่านักอภิปราย ไม่ว่าพิธีกรที่จัดรายการ มีบทเรียนอันเป็นของตนเองเสมอว่า หากอยากมีคนฟังเยอะๆ ต้องทวีความร้อนแรง รุนแรง

แม้จำเป็นต้องใช้ “คำหยาบ” ก็ต้องโพล่งทะลุออกมา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน