ในความขัดแย้งต่อญัตติ “การทำประชามติ” มีลักษณะ “ร่วม” ที่น่าสนใจอย่างยิ่งยวด

หากถือเอาคำอภิปรายของ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ เป็น “บรรทัดฐาน” จากพรรคก้าวไกล หากยึดเอาคำอภิปรายของ นายนพดล ปัทมะ เป็นคู่เปรียบเทียบ

สัมผัสได้ใน “ความเห็นต่าง” สัมผัสได้ใน “ความรู้สึกร่วม”

เป็นความรู้สึก “ร่วม” อันแทบไม่ได้เห็นความแตกต่างตั้งแต่การอภิปรายของ นายทรงยศ รามสูต กระทั่งที่ร่ายเรียงออกมาของ น.ส.ธิษะณา ชุณหะวัณ

แท้จริงแล้ว พรรคก้าวไกล กับ พรรคเพื่อไทย มิได้ยืนห่างกันเลย

หากตัดบาง “ถ้อยคำ” อันเหมือนกับเครื่องถนิมพิมพาภรณ์ในทาง “ความรู้สึก” ออก

ถามว่าพรรคเพื่อไทยเจ็บปวดกับ “รัฐประหาร” ตั้งแต่เมื่อเดือนกันยายน 2549 กับเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 หรือไม่

ตอบได้เลยว่าเจ็บปวดและยังเจ็บปวดอยู่

ถามว่าพรรคก้าวไกลมีความเข้าใจใน “กระบวนท่า” ของพรรคเพื่อไทยมากน้อยเพียงใดในการบริหารจัดการกับ “รัฐธรรมนูญ” เมื่อมาเป็นแกนนำรัฐบาล

คำถามนี้สำคัญ คำถามนี้พรรคก้าวไกลต้องเป็นผู้ตอบ

นับแต่สถานการณ์เมื่อวันที่ 22 สิงหาคมเป็นต้นมา พรรคก้าวไกลมากด้วยคำถาม

อาจจะเข้าใจมากยิ่งขึ้นว่าเหตุใดพรรคเพื่อไทยจึงต้องตัดพรรคก้าวไกลออกจากสมการ ทำไมจึงต้องทำในสิ่งที่เรียกว่า “ตระบัดสัตย์” ในทางการเมือง

แม้เมื่อภาพของ “รัฐบาลพิเศษ” ปรากฏ พรรคก้าวไกลก็ยังหงุดหงิด

กระนั้น เมื่อทั้งพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยมายืนอยู่ ณ เบื้องหน้ารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ด้วยกันก็ปรากฏอารมณ์ “ร่วม” โดยอัตโนมัติ

ต้องการ “แก้ไข” อย่างแน่นอน เพียงแต่ต่าง “วิธีการ” เท่านั้น

เส้นทางไปสู่การแก้ไข “รัฐธรรมนูญ” อาจสรุปได้ว่าไม่เหมือนกัน นี่เข้าใจได้

แต่ถามว่าพรรคเพื่อไทยสามารถบิดพลิ้วได้หรือไม่ แต่ถามว่าการกำกับอย่างใกล้ชิดของพรรคก้าวไกลกดดันพรรคเพื่อไทยได้หรือไม่

เวลาที่เหลือนอกจากนี้ย่อมมี “คำตอบ” ย่อมมี “คำอธิบาย”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน