ณ เบื้องหน้า “ดิจิทัล วอลเล็ต” กระบวนท่า “คลุมเครือ” อาจกลายเป็น “อันตราย”

แม้ว่าในกาลอดีต กลยุทธ์สร้าง “ความคลุมเครือ” จะเป็นกลยุทธ์ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง ไม่ว่าในเชิงธุรกิจ ไม่ว่าในเชิงการเมือง

แต่เมื่อผ่านการเลือกตั้งเดือนพฤษภาคม 2566 ก็เริ่มไม่ขลัง

ความพ่ายแพ้ของพรรคเพื่อไทยที่ไม่อาจบรรลุเป้าหมาย “แลนด์สไลด์” อย่างที่มาดหมาย สาเหตุใหญ่ก็เนื่องจากการติดบ่วงอยู่ใน “ความคลุมเครือ”

เมื่อปะทะกับความชัดเจนจาก “มีลุง ไม่มีเรา”

ต้องยอมรับว่ากระบวนท่าสร้าง “ความคลุมเครือ” เป็นกระบวนท่าระดับ “ยอดนิยม”

จุดเริ่มต้นมาจากบทบาทของ “ศรีธนญชัย” ที่ติดอยู่ในกรงขัง แต่ร้องตะโกนดังก้องว่า “กูไม่เป็น กูไม่เป็น” ออกมาตลอดสองรายที่ผ่านไป

เป็นการ “ปฏิเสธ” แม้แท้จริงแล้วจะ “อยากเป็น”

นี่เป็นกระบวนท่าที่นักการเมืองทั้งหลายชมชอบ ไม่ว่าจะเป็น พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ไม่ว่าจะเป็น พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ หรือแม้แต่ นายบรรหาร ศิลปอาชา

แต่เมื่อมีพรรคอนาคตใหม่ พรรคก้าวไกล กลยุทธ์นี้ก็เริ่มไม่ “เวิร์ก”

พรรคเพื่อไทยได้รับบทเรียนอย่างเจ็บปวดจากผลการเลือกตั้งเดือนพฤษภาคม

แม้จะมากด้วยความมั่นใจว่า “แลนด์สไลด์” เพราะมีรากฐานแห่งชัยชนะตั้งแต่ยุคพรรคไทยรักไทย ยุคพรรคพลังประชาชน มาอย่างต่อเนื่อง

แต่เมื่อเข้าสู่การเลือกตั้งเดือนพฤษภาคม กระบวนท่านั้นก็พังทลาย

พังทลายเพราะประสบกับคำถามในเรื่อง “บิ๊กดีล” ทางการเมือง และไม่อาจให้คำตอบได้ แม้จะพลิกเกม “ปิดสวิตช์สว. ปิดสวิตช์ 3 ป.” ในโค้งสุดท้ายก็สายเสียแล้ว

ต้องพ่ายแพ้ ณ เบื้องหน้าสโลแกน “มีลุง ไม่มีเรา”

น่าสนใจก็ตรงที่เมื่อเสนอ “ดิจิทัล วอลเล็ต” เข้ามาก็ตกอยู่ในพายุแห่ง “คำถาม” อีก

เมื่อไม่มีความชัดเจนจากพรรคเพื่อไทย เมื่อไม่มีความชัดเจนจาก นายเศรษฐา ทวีสิน เมื่อไม่มีความชัดเจนจาก นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์

นโยบาย “เรือธง” ก็อยู่ในคลื่นลมแห่ง “วิกฤต”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน