สถานะของ “ยุบกอ.รมน.” กำลังดำรงอยู่เหมือนสถานะของ “สุราก้าวหน้า” เป็นลำดับ

นั่นก็คือ อาจยังไม่ประสบความสำเร็จ สามารถผ่านความเห็นชอบในวันนี้ สมัยนี้ แต่กระแสและน้ำเสียงการคัดค้านต่อต้านจะยิ่งแผ่วเบาลง

แผ่วเบาลงเหมือนเสียงค้าน “สมรสเท่าเทียม”

หากดูจากน้ำเสียงของ นายรอมฎอน ปันจอร์ ที่มีบทบาทนำหน้าในการเสนอแนวคิดในเรื่อง “ยุบกอ.รมน.” เป็นน้ำเสียงแห่งความมั่นใจ

มั่นใจในระดับเดียวกับ นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ต่อ “สุราก้าวหน้า”

ถามว่าสภาพการณ์อะไรทำให้เกิดความมั่นใจต่อกระแส “ยุบกอ.รมน.” ว่าจะพัฒนา

คำตอบ 1 มองทะลุไปถึงรากฐานแห่งการเกิดความคิดกระทั่งนำไปสู่การเสนอร่างกฎหมายในลักษณะนี้ขึ้นมิได้ดำรงอยู่อย่างเลื่อนลอย

ตรงกันข้าม ดำรงอยู่กับสถานการณ์ที่เป็นจริงในทางการเมือง

เป็นความเป็นจริงซึ่งภาวะแวดล้อมในยุค “สงครามเย็น” ได้แปรเปลี่ยนไปแล้วอย่างสิ้นเชิง การดำรงอยู่ของ “กอ.รมน.” จึงเป็นรูปธรรมแห่งความล้าหลัง

คำตอบ 1 มาจากความรู้สึก “ร่วม” ในทางสังคม

ต้องยอมรับว่ามิได้มีแต่พรรคก้าวไกลที่คิด ตรงกันข้าม พรรคเพื่อไทยก็เคยคิด

ลองย้อนกลับไปขุด “ดิจิทัล ฟุตพรินต์” ในห้วงที่พรรคเพื่อไทยดำรงอยู่ในสถานะแห่งฝ่ายค้านก็จะพบร่องรอยในทางความคิดเป็นจำนวนมาก

ที่สะท้อนออกได้ดีที่สุดคือ นายอดิศร เพียงเกษ

ขณะเดียวกัน การดำรงอยู่ของพรรคประชาชาติในฐานะตัวแทนของคน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นการดำรงอยู่อย่างต้องการ “ยุบเลิก กอ.รมน.”

พรรคประชาชาติ คือ พรรคร่วมรัฐบาลที่สำคัญ

การเสนอร่างกฎหมายของพรรคก้าวไกลจึงดำเนินไปในลักษณะการเจาะทะลวง

เจาะทะลวงเหมือนประเด็นว่าด้วย “สมรสเท่าเทียม” เจาะทะลวงเหมือนประเด็นว่าด้วย “สุราก้าวหน้า” เจาะทะลวงเหมือนประเด็นว่าด้วย “ประชามติ”

วันนี้อาจไม่ราบรื่น แต่ “ประกายไฟ” ได้ลุกโพลงขึ้นแล้ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน